การเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ: การลงทุนเพื่ออนาคต

ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ Biodiversity ซึ่งเป็นความหลากหลายของชีวิตและระบบนิเวศบนโลกนี้ มีความสำคัญต่อความสมดุลของโลกและความเป็นอยู่ของมนุษย์ แต่มักถูกมองเป็นเพียงวัตถุดิบ ฐานการผลิตสินค้าและบริการ ทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว จึงมีการเรียกร้องให้กลไกการเงินเข้ามาสนับสนุนให้เกิดการลงทุนที่ยั่งยืน เพื่อการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ
 
ธุรกิจพึ่งพาความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่าที่คิด
 
ประเด็นการพึ่งพิงความหลากหลายทางชีวภาพ ได้ถูกรายงานบนเว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ โดยอ้างอิงจากรายงาน "New Nature Economy" ที่เผยแพร่ในเวที World Economic Forum เมื่อเดือนมกราคม 2567 ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามูลค่าเศรษฐกิจโลกขึ้นอยู่กับธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ประมาณ 44 ล้านล้านดอลลาร์ - มากกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก โดยมีธุรกิจ 3 ลำดับแรกที่รายงานดังกล่าวระบุว่าพึ่งพิงธรรมชาติมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง การเกษตร และอาหารและเครื่องดื่ม ตามลำดับ – แน่นอนว่าหากไม่มีการจัดการที่ดี  ย่อมมีความเสี่ยงในการเกิดผลกระทบมากขึ้นเรื่อย ๆ



ทั้งนี้ กิจกรรมทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่ของธุรกิจได้มีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพทั้งตรงและทางอ้อม ตั้งแต่แหล่งที่ตั้งของธรุกิจ การจัดหาและขนส่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิตสินค้า การกระจายสินค้า ไปจนถึงการค้าส่งค้าปลีก และการบริการ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและทะเล เกิดการใช้ทรัพยากรซึ่งอาจมากจนเกินไป เกิดของเสียและมลพิษ การแพร่กระจายของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ
 
ความหวังในการปกป้องหลากหลายทางชีวภาพของธุรกิจไทย
ด้วยกลไก
Green Finance และ Taxonomy
 
การขับเคลื่อนธุรกิจยั่งยืนในประเทศไทยได้ริเริ่มมาระยะหนึ่ง พร้อม ๆ กับข้อตกลงระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เงื่อนไขการค้าของประชาคมโลก และแนวคิด ESG (Environment, Social, Governance) รวมทั้งวาระการพัฒนาประเทศไทยที่การประกาศใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-economy, Circular Economy, Green Economy) ส่งผลให้เกิดกลไกทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) หุ้น ESG ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ อาทิ สินเชื่อ ESG สินเชื่อ BCG เป็นต้น ซึ่งล้วนมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้จะมีกลไกทางการเงินที่สนับสนุนการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพเกิดขึ้นบ้าง แต่ยังไม่แพร่หลายและไม่เกิดผลมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับกลไกที่ได้กล่าวมาข้างต้น  
 
อย่างไรก็ดี การกล่าวถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีประเทศไทย นายเศรษฐา ทวีสิน ในการประชุมสุดยอดของสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 ที่นครนิวยอร์ก ประกาศจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการสนับสนุนการเงินเพื่อความยั่งยืน หรือ Green Finance สำหรับการบรรลุเป้าหมาย SDGs นี่อาจเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะเปิดมุมมองและขยายขอบเขตทางการเงินให้ครอบคลุมถึงการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหวังในเรื่องนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงการประกาศ Thailand Taxonomy ซึ่งใช้เป็นกรอบในการจำแนกประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป
 
Pathways ความร่วมมือด้านการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ
 
ประเทศไทยอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ฉบับที่ 5 ซึ่งมีแผนจะประกาศใช้ในปี 2567 ซึ่งจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Global Biodiversity Framework) ที่มีการกำหนดเป้าหมายด้านการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพไว้อย่างที่ชัดเจน



สำหรับความร่วมมือในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ มีขอบเขตกว้างไปกว่าภาคการเงินและภาคธุรกิจ ซึ่งต้องให้ความสำคัญทั้งองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ครอบคลุมการขับเคลื่อนกลุ่มผู้บริโภคและตลาดใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการที่รับผิดชอบต่อความหลากทางชีวภาพ รวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศไปพร้อม ๆ กัน เพื่อสร้างรูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืน ตอบสนองต่อความต้องการสาธารณะในการมุ่งสู่ความยั่งยืน ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและเข้าถึงแหล่งทุน

การจัดเวทีการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ Forum on Finance for Biodiversity ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 นับเป็นโอกาสหนึ่งในการแสดงเจตนารมย์และประกาศความร่วมมือในการขับเคลื่อนการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย ตลอดจนเสริมสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพจากกรณีในประเทศและภูมิภาค และแลกเปลี่ยนกรณีศึกษาที่มุ่งเน้นความคิดริเริ่มการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างองค์ความรู้และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทในภูมิภาคนี้
ขอขอบคุณภาพจาก Pixabay

ขอบคุณข้อมูลจาก: World Economic Forum / FIN4BIO

เรียบเรียงโดย:

ธนิรัตน์ ธนวัฒน์

นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

Tags:
บทความเกี่ยวข้อง: