การรับรองกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก** (Kunming-Montreal Gobal Biodiversity Framework) ของภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ 196 ประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) ทำให้แต่ละประเทศต้องจัดทำแผนงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (National biodiversity strategies and action plan: NBSAP) ให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของโลก และการกำหนดกรอบการดำเนินงานผ่าน NBSAP ของแต่ละประเทศ ให้มีความเชื่อมโยงระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพกับสุขภาพในทศวรรษหน้า เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่ได้นำความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพมาใช้ในการขับเคลื่อน NBSAP จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการวิเคราะห์ช่องว่างและจัดลำดับความสำคัญการเชื่อมโยงความรู้สู่นโยบาย และปรับปรุงกลไกการประสานงานระดับนโยบาย ตามแนวทางที่บทความนี้เสนอไว้ เพื่อให้การจัดทำ NBSAP มีความสอดคล้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพในระดับผลลัพธ์ทั้งด้านความหลากหลายทางชีวภาพและด้านสุขภาพ
NBSAP เป็นแผนซึ่งแต่ละประเทศกำหนดวิธีที่ให้คุณค่า ประเมิน ปกป้อง และรับผิดชอบต่อธรรมชาติข้ามระบบนิเวศและภาคส่วน ส่งผลไปยังการกำหนดนโยบายระดับประเทศ กฎระเบียบ และกรอบการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติ แม้รัฐบาลประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาฯ ได้มีการเรียกร้องให้มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์ประกอบด้านสุขภาพใน NBSAP มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 และต่อมามีการประกาศปฏิญญาระหว่างรัฐบาลว่าด้วยกระแสหลักด้านความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี ในปี พ.ศ. 2559 เพื่อให้มีการพิจารณาด้านสุขภาพและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านสุขภาพมากขึ้น แต่ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร เห็นได้จากการทบทวน NBSAP ของ 159 ประเทศ ที่จัดทำขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2553-2561 พบว่ามีประเทศไม่ถึงครึ่งของจำนวนดังกล่าว ที่มีโครงสร้างการประสานงานในการผลักดันให้ความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ในการพัฒนากระแสหลัก โดยมี 10 ประเทศที่ภาคีด้านสุขภาพมีส่วนร่วมในกระบวนการหารือเพื่อจัดทำ NBSAP ขณะที่มีเพียง 7 ประเทศที่อธิบายถึงการมีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการของภาคีด้านสุขภาพในคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้น และมีเพียง 2 ประเทศที่ระบุบทบาทภาคีด้านสุขภาพในการขับเคลื่อน NBSAP สู่การปฏิบัติการพัฒนาด้านสุขภาพใน NBSAP เริ่มต้นจากการประสานงานเพื่อออกแบบแนวคิดเชิงระบบและการปฏิบัติร่วมกันให้มากขึ้น ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างกระทรวงสิ่งแวดล้อมและกระทรวงสาธารณสุข โดยกำหนดเป็นภารกิจต้องดำเนินการ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพกับสุขภาพในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ภารกิจด้านสุขภาพก็ควรให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพด้วย โดยการบูรณาการงานวิจัยเชิงปฏิบัติการสู่การกำหนดประเด็นสำคัญระดับประเทศ ที่ครอบคลุมทั้งด้านความหลากหลายทางชีวภาพและด้านสุขภาพ เพื่อรองรับความเสี่ยงในระยะสั้นและระยะยาวจากการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพที่จะส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมถึงความเชื่อมโยงของสุขภาพของทุกคนกับทุกสายพันธุ์
แม้อนุสัญญาฯ องค์การอนามัยโลก (WHO) เวทีระหว่างรัฐบาลว่าด้วยนโยบายวิทยาศาสตร์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ (Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services: IPBES) และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ได้ร่วมกันรับรองความเชื่อมโยงระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพและสุขภาพ รวม 16 รายการ แต่จากการทบทวน NBSAP โดยอิสระจาก 144 ประเทศ ภายหลังปี พ.ศ. 2553 และในปี พ.ศ. 2562 ก็ยังพบว่าไม่มีการวิเคราะห์ด้านสุขภาพหรือการมีส่วนร่วมของภาคีด้านสุขภาพ อนึ่ง การก้าวข้ามอุปสรรคในการประสานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านสุขภาพ จำเป็นต้องมีการอำนวยความสะดวกให้เกิดการมีส่วนร่วมของสหสาขาวิชาชีพและการปรึกษาหารือข้ามสาขา การเชื่อมโยงกลยุทธ์ในการสื่อสาร การศึกษา และการสร้างความตระหนักรู้ การมีพื้นที่ในการตัดสินใจและเน้นให้เห็นประโยชน์ร่วมด้านสุขภาพจากการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี
บทความนี้เรียบเรียงโดยนักวิชาการหลากหลายสาขา*** ได้เสนอประเด็นสำหรับการประสานงานด้านนโยบายเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพกับสุขภาพ เพื่อช่วยให้รัฐบาลและสถาบันต่าง ๆ สามารถเริ่มต้นการทำงานร่วมกันได้อย่างรวดเร็ว ดังนี้
ข้อแรก รัฐบาลแต่ละประเทศควรจัดทำ NBSAP และแผนด้านสุขภาพ ในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพจิต โภชนาการ การควบคุมโรคไม่ติดต่อและโรคติดต่อ และส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก โดยเตรียมการด้านการเงินเพื่อให้เกิดการกำหนดนโยบาย การจัดสรรทรัพยากร และการขับเคลื่อนแบบองค์รวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระดมทุนโดยตรงต้องได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการคลัง ควรเพิ่มการมีส่วนร่วมระหว่างกระทรวงสิ่งแวดล้อมและกระทรวงสาธารณสุข การกำหนดนโยบายให้งบประมาณด้านสาธารณสุขต้องรวมการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน นอกจากนี้รัฐบาลต้องส่งเสริมกลไกทางการเงินการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ และสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพกับสุขภาพในวงกว้าง โดยป้องกันผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยทางการค้าต่อสุขภาพ
ข้อที่สอง ควรมีการประสานงานเพื่อให้กลไกในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ในการบูรณาการประเด็นสำคัญ เป้าหมาย และการปฏิบัติการ ในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อม ๆ กัน เพื่อตอบสนองต่อความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นด้วยการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ NBSAP ควรสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแผนการปรับตัวด้านสุขภาพของประเทศ
ข้อที่สาม NBSAP ควรตระหนักและมีความสอดคล้องกับปัจจัยด้านสุขภาพของกลุ่มคนที่มีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ และมติสมัชชาอนามัยโลกปี พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023) ว่าด้วยสุขภาพของชนพื้นเมือง ซึ่งคณะกรรมการระหว่างกระทรวงควรมีส่วนร่วมและเรียนรู้จากชุมชนและผู้ที่มีความรู้ดั้งเดิม เพื่อให้การกำหนดแนวทาง NBSAP ให้มีความสอดคล้องกับธรรมชาติและสุขภาพที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีคุณค่า
ข้อที่สี่ จำเป็นต้องมีกระบวนการประเมินผลแบบสหวิทยาการสำหรับการขับเคลื่อน NBSAP ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อประเมินความก้าวหน้าในการเชื่อมโยงระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพกับสุขภาพ ซึ่งรัฐบาลต้องมั่นใจว่าการประเมินสิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ จะเป็นการติดตามการดำเนินงานภายใต้กรอบงานของอนุสัญญาฯ โดยพิจารณาการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพในบริบทของความเสมอภาคระหว่างรุ่นและสุขภาพของคนรุ่นต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถของเด็กที่จะเกิด เติบโต พัฒนา และเจริญเติบโต
ข้อที่ห้า NBSAP ควรยอมรับสิทธิการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ ยั่งยืน และมีความเชื่อมโยงกับสิทธิด้านสุขภาพ รวมถึงส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพกับสุขภาพตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงการศึกษาระดับวิชาชีพอย่างชัดเจน
ข้อสุดท้าย NBSAP ควรเรียกร้องให้ภาคีด้านสุขภาพตระหนักถึงบทบาทของตนเองต่อระบบนิเวศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และร่วมดำเนินการเพื่อระบุ ศึกษาขนาด และจัดการผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรอยเท้าทางสิ่งแวดล้อม (environmental footprint)
ข้อแนะนำในการจัดการระบบนิเวศและระบบสุขภาพใน NBSAP ที่สอดคล้องกับกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก สำหรับเป้าหมาย 5, 7, 10, 11, 12 และ 14
เป้าหมายที่ 5 ลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อโรคจากการใช้ การล่า และการค้าสัตว์ป่า
- จัดตั้งคณะกรรมการสหวิทยาการด้านการจัดการกับการค้าสัตว์ป่าที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะนกที่มีชีวิตและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีการซื้อขายในเขตเมือง
- กำหนดให้กระทรวงสิ่งแวดล้อมและกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันพัฒนาและดำเนินการระบบเฝ้าระวังเตือนภัยล่วงหน้า ที่มีหลายภาคส่วนทำงานร่วมกัน เพื่อตรวจจับและคาดการณ์การระบาดของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เสี่ยงสูงทั้งบนบกและในทะเล ซึ่งสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงและเอื้อต่อการเกิดโรค
เป้าหมายที่ 7 ลดความเสี่ยงด้านมลพิษและผลกระทบทางลบ โดยเฉพาะจากพลาสติก สารเคมีกำจัดแมลง และสารเคมีอันตรายอื่น
- ส่งเสริมและจูงใจให้ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและจำกัดการใช้พลาสติกในทุกระดับ
- บูรณาการกลยุทธ์การจัดการทรัพยากรน้ำในกระทรวงสิ่งแวดล้อมกับการวางแผนน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย (WASH) ในกระทรวงสาธารณสุข
- จัดทำ NBSAP ให้สอดคล้องกับมติสมัชชาอนามัยโลกเกี่ยวกับผลกระทบของสารเคมี ของเสีย และมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับโปรแกรมการตรวจติดตามตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในมนุษย์ระดับประเทศและการเฝ้าระวังเกี่ยวกับสารแคดเมียม สารตะกั่ว สารปรอท สารกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตรายสูง และสารเคมีที่ทำลายต่อมไร้ท่อ รวมถึงภัยอันตรายและความเสียหายจากมลพิษต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง
เป้าหมาย 10 ระบบการจัดการอย่างยั่งยืนในการเกษตร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การประมง และอาหารจากระบบนิเวศป่าไม้
- จัดตั้งคณะกรรมการระบบอาหารแบบสหวิทยาการ โดยต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตร และอื่น ๆ
- ระบุความสัมพันธ์ระหว่างความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย และอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ กับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพบนบก การอนุรักษ์ทะเลและการจัดการประมง และการจัดการและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
- ส่งเสริมแนวทางการบริโภคอาหารอย่างยั่งยืนและดีต่อสุขภาพ โดยรวมเข้ากับนโยบายการจัดซื้อภาครัฐและภาคเอกชน โดยเน้นที่ความหลากหลายของอาหาร โดยเฉพาะผลไม้ ผัก ถั่ว พืชตระกูลถั่ว และพืชอื่น ๆ
เป้าหมายที่ 11 ฟื้นฟู บำรุงรักษา และเพิ่มพูน “คุณูปการของธรรมชาติต่อผู้คน”
- กำหนดกรอบแนวทางการแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based solutions) และแนวทางที่ใช้ระบบนิเวศเป็นพื้นฐาน (Ecosystem-based approaches) สำหรับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค
- จัดทำรายงานโดยสังเขปเกี่ยวกับสถานการณ์อากาศ น้ำ ดิน มหาสมุทร และแมลงผสมเกสร รวมถึงการวิเคราะห์ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในงานด้านสุขภาพ รวมถึงแนวโน้มเกี่ยวกับสถานะของบริการระบบนิเวศเป็นประจำทุกปี
เป้าหมาย 12 ปรับปรุงพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สีน้ำเงินในเมือง
- ลงทุนและพัฒนาป่าในเมือง อุทยานบนบกและทางทะเล หลังคาเขียว การปลูกต้นไม้ สวน แม่น้ำ สระน้ำ และทะเลสาบ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นด้านสุขภาพ (ไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือย) จัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงจากความร้อน ความชุกของโรคไม่ติดต่อ และความไม่เป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม
- สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในระดับเทศบาล เช่น ผ่านดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพของเมือง และมีส่วนร่วมกับภาคส่วนด้านสุขภาพในการหาปริมาณผลประโยชน์ร่วมด้านสุขภาพและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดเหล่านี้
เป้าหมาย 14 การบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพในนโยบาย กฎระเบียบ การวางแผนการพัฒนา การขจัดความยากจน การประเมิน และการบัญชีประชาชาติ
- รวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านสุขภาพที่หลากหลายในการคัดกรอง กำหนดขอบเขต ทบทวน ตัดสินใจ และติดตามกระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การประเมินระบบนิเวศระดับชาติ (NEA) และการรายงานแห่งชาติภายใต้อนุสัญญาฯ และรวมความเชื่อมโยงระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพกับสุขภาพเข้ากับการประเมินเหล่านี้
- กำหนดให้มีปัจจัยคัดกรองที่ครอบคลุมความเชื่อมโยงระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพกับสุขภาพ ในการประเมินและตรวจสอบให้แน่ใจว่าปัจจัยเหล่านั้นได้รวมผลกระทบสะสม ผลกระทบแต่ละระดับ (ระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับภูมิภาคต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมโลก) และผลกระทบตามระยะเวลา (ผลกระทบที่เกิดขึ้นทันที ค่อย ๆ เกิดขึ้น และเรื้อรังต่อสุขภาพ)
กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก นับเป็นกรอบทิศทางสำหรับการจัดทำ NBSAP และเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติในทศวรรษหน้า ทั้งนี้การเพิ่มผลลัพธ์ด้านสุขภาพใน NBSAP ประเทศต่าง ๆ ควรพิจารณาให้ไกลกว่าเป้าหมายของกรอบงานฯ นี้ โดยกำหนดเป้าหมายเฉพาะสำหรับประเทศที่เชื่อมโยงระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพและสุขภาพ อาทิ เป้าหมายระดับประเทศเกี่ยวกับสภาวะโลกที่ส่งผลต่อสุขภาพ (Planetary Health) ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวอาจครอบคลุมประเด็นด้านสุขภาพและความหลากหลายทางชีวภาพระดับประเทศในวงกว้าง ควบคู่กับความพยายามตอบสนองต่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นและเกินขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก สำหรับเป้าหมาย 5, 7, 10, 11, 12 และ 14 ของกรอบงานฯ ซึ่งมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับผลลัพธ์ด้านสุขภาพ ควรดำเนินการร่วมกับภาคส่วนด้านสุขภาพในระดับประเทศ โดยเฉพาะในการหารือเพื่อทบทวนหรือจัดทำ NBSAP ให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ พร้อมการยกระดับการกำกับดูแลแบบบูรณาการซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการพิจารณาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในบริบท วัฒนธรรม สุขภาพ และระบบนิเวศของท้องถิ่นที่แตกต่างกัน
NBSAP ที่ทบทวนหรือจัดทำขึ้นจะเป็นตัวกำหนดมุมมองระดับประเทศ การลงทุน และขอบเขตงานทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติในทศวรรษหน้า NBSAP ที่ออกแบบอย่างดีจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพและเสริมสร้างสุขภาพของมนุษย์ ปกป้องการพัฒนาและความเป็นอยู่ที่ดีของคนรุ่นอนาคต และปรับปรุงความเสมอภาคด้านสุขภาพ ดังนั้น ภาคีด้านสุขภาพต้องกระตุ้นและสนับสนุนการดำเนินการตามธรรมาภิบาลความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก และมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำ NBSAP ที่กำลังดำเนินอยู่ นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีการวิจัยและมีข้อมูลที่แสดงความเชื่อมโยงความหลากหลายทางชีวภาพกับด้านสุขภาพ และสถานการณ์จำลองการเปลี่ยนแปลงสำหรับการตัดสินใจของทุกประเทศ
หมายเหตุ
* แปลและเรียบเรียงจากบทความ Advancing integrated governance for health through national biodiversity strategies and action plans เข้าถึงได้จาก https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(23)01431-9/fulltext
** กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) ประกอบด้วย 4 เป้าประสงค์ และ 23 เป้าหมาย ภายใต้ 3 กลุ่มงาน ได้แก่ 1) ลดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ 2) การใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และ 3) กลไกการผลักดันให้ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นกระแสหลัก ดูรายละเอียดได้จาก https://www.cbd.int/gbf/
*** ชื่อผู้เขียน
Liz Willetts, Harvard T H Chan School of Public Health, Boston, MA, USA
Carly Siege, Conservation International, New York, NY, USA
Anna M Stewart-Ibarra, Inter-American Institute for Global Change Research, Montevideo, Uruguay
Ojistoh Horn, Canadian Association of Physicians for the Environment, Akwesasne Medical Clinic, QC, Canada
Benjamas Chotthong, Thailand Environment Institute, Bangkok, Thailand
Tanirat Tanawat, Thailand Environment Institute, Bangkok, Thailand
Phyllis Omido, Centre for Justice, Governance and Environmental Action, Mombasa, Kenya
Manushi Sharma, Collaborating for Resilience, Washington, DC, USA
Lujain Alqodmani, World Medical Association, Oslo, Norway
Nathan J Bennett, Institute for the Oceans and Fisheries, University of British Columbia, Vancouver, BC, Canada
Christopher D Golden, Harvard T H Chan School of Public Health, Boston, MA , USA
Cicilia Wangari Githaiga, Centre for Advanced Studies in Environmental Law and Policy, University of Nairobi, Kenya
Neil M Vora, Commission on Environmental, Economic and Social Policy, International Union for the Conservation of Nature, Gland, Switzerland
Share: