ขยะมูลฝอย 24.98 ล้านตัน มีการคัดแยก ณ ต้นทาง และนำกลับไปใช้ประโยชน์ จำนวน 7.89 ล้านตัน ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้อง 9.28 ล้านตัน และได้รับกำจัดไม่ถูกต้อง จำนวน 7.81 ล้านตัน (รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย)
ขณะที่อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ซึ่งนิยมใช้พลาสติก มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากการขยายตัวของสินค้าเพื่อการส่งออกและบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าเพื่อการค้าปลีกภายในประเทศ
แต่ระบบรองรับการคัดแยกขยะมูลฝอยที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้น ยังคงตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม
หลายฝ่ายมักคาดหวังให้ประชาชนร่วมมือคัดแยกขยะเพื่อแก้ไขปัญหาชยะที่เกิดขึ้น แต่ก็มักพบว่าการสื่อสารวิธีการจัดการปลายทางยังไม่เข้าถึงประชาชน
ผู้บริโภคไม่คัดแยกขยะ หรือไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการรีไซเคิล ทำให้ขยะพลาสติกถูกนำไปฝังกลบรวมกับขยะอื่น ๆ
ส่วนขยะพลาสติกที่ไม่ถูกจัดเก็บและกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ทั่วไป ก็มักสร้างปัญหาการอุดตันตามท่อระบายน้ำ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในช่วงฝนตก และมักพบเป็นขยะลอยในแม่น้ำ ลำคลอง จนกระทั่งลงสู่ทะเล
ก่อให้เกิดปัญหาเศษขยะพลาสติกและไมโครพลาสติก ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลตามมา
รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ จึงตื่นตัวกับปัญหานี้ มีการกำหนดมาตรการทั้งทางกฎหมายเพื่อควบคุมปริมาณการผลิตและการใช้พลาสติก
ขณะที่ประเทศไทยได้ประกาศ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 โดยมีเป้าหมายที่ 1 ลดและเลิกใช้พลาสติกเป้าหมายด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
และเป้าหมายที่ 2 นำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์เข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีมาตรการที่ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อจัดการกับปัญหาพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง
โดยมีพลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ (Oxo) ฟิล์มหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal) และไมโครบีดจากพลาสติก เป็นกลุ่มแรกที่ได้รับความร่วมมือดำเนินการไปแล้ว
ส่วนกลุ่มต่อไปคือ ถุงพลาสติกชนิดหูหิ้วแบบบาง กล่องโฟมบรรจุอาหาร หลอดพลาสติก และแก้วน้ำดื่มแบบบาง ถือเป็นอีกกลุ่มที่ยังต้องอาศัยความพยายามจากทุกภาคส่วน
ดังนั้น เมื่อสิ้นสุดแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565) กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำ แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)
ซึ่งยังคงเน้นมาตรการภาคสมัครใจ การขอความร่วมมือในจัดการปัญหานี้ ตั้งแต่การผลิต การนำเข้า การจำหน่าย การบริโภค และการจัดการขยะ ณ ปลายทาง ซึ่งภาคส่วนแต่ละกลุ่มมีบทบาท ดังนี้
กลุ่มผู้ผลิต: กลุ่มแปรรูปบรรจุภัณฑ์พลาสติกดั้งเดิม มีความสนใจและเริ่มปรับตัวกับธุรกิจในแง่ของการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับ Roadmap ที่ประกาศตั้งแต่ต้น
หลายบริษัทที่มีความพร้อมยกเลิกการผลิตสินค้าเดิมและปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อผลิตสินค้าอื่นทดแทน การใช้วัสดุรีไซเคิลผสมกับวัสดุดั้งเดิมในการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้สัมผัสอาหาร
กลุ่มผู้ประกอบการ: ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ ตอบสนองมาตรการดังกล่าว โดยการลดการแจกถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า มีวิธีการรณรงค์เพื่อให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการลดการใช้ถุงพลาสติก
เช่น การเลือกบรรจุภัณฑ์จากวัสดุทดแทนเข้ามาจำหน่าย และการให้แต้มสะสมคะแนนสำหรับลูกค้าที่ไม่รับถุงพลาสติก รวมถึงกลุ่มผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นให้มีตัวเลือกสำหรับไม่รับช้อนส้อมพลาสติกหรือถุงพลาสติก เป็นต้น
กลุ่มผู้ค้ารายย่อย: ตลาด ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เข้าร่วมโครงการส่งเสริมความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในการให้บริการทั้งภายในตลาด ภายในร้าน และแบบนำกลับบ้าน
ยังพบความพยายามในการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุทดแทน นำมาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดอีเว้นท์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จัดส่งอาหารเดลิเวอรี่
กลุ่มผู้บริโภค ให้ความร่วมมือในการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดยประชาชนทั่วไปพกพาถุงผ้า ภาชนะหรือของใช้ส่วนตัวเพื่อนำไปใช้เองในที่สาธารณะ เพื่อซื้ออาหาร เครื่องดื่ม และช้อปปิ้งสินค้า อีกทั้งภายในโรงเรียนและสำนักงานต่าง ๆ ก็มีการรณรงค์เพื่อให้ใช้ภาชนะส่วนตัวและแยกขยะรีไซเคิลได้
การมีส่วนร่วมของกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ต้องการขยายผลให้มากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาขยะที่สั่งสมมานาน นอกจากนี้ ยังคงมีผู้ประกอบการที่รอความชัดเจนและรอการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจช่วยแก้ปัญหานี้
ส่วนประชาชนเองก็ยังใช้วิถีชีวิตแบบสะดวกสบาย ไม่เคยชินกับการปรับตัวในการ ลดการใช้-ใช้ซ้ำ-นำกลับมาใช้ใหม่ (Reduce-Reuse-Recycle) หรือหยุดวัฒนธรรมการใช้แล้วทิ้ง
และสิ่งที่เรายังไม่เห็นในภาพรวมที่จะช่วยเชื่อมโยงการจัดการปัญหาขยะพลาสติก คือ การบริหารจัดการขยะชุมชนปลายทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ บุคลากร
รวมถึงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้เจ้าหน้าที่สามารถบริหารจัดการปลายทางได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
ไม่ว่าจะเป็น การคัดแยก การเก็บรวบรวม การขนถ่าย การส่งเสริมให้เกิดการรีไซเคิล การเผาทำลายหรือได้มาซึ่งประโยชน์ด้านพลังงาน และการฝังกลบสุดท้าย เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาต้นทาง
การดำเนินงานเพื่อลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งในต่างประเทศมีให้เห็นอยู่มาก ทั้งมาตรการภาคสมัครใจและมาตรบังคับที่มีบทลงโทษ
การนำตัวอย่างเหล่านั้นมาปรับใช้ในประเทศไทยควรดำเนินการอย่างระมัดระวังและคำนึงถึงผลกระทบกับทุกฝ่าย ซึ่งยังเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องการนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาล การใช้งบประมาณเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ
การสร้าง ecosystem ที่เหมาะสมสำหรับการผลิต การใช้ และการจัดการขยะ นับว่าเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำ เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับภาคธุรกิจ และทำให้ประชาชนเห็นความจริงใจในการแก้ปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการจัดการขยะของประเทศได้
อ้างอิงจาก ผลการศึกษาจาก โครงการศึกษาวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และเสนอกลไกการขับเคลื่อนตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของประเทศ และโครงการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 มติ 14.1 การเสริมสร้างสุขภาวะสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในวิกฤติโควิด-19: การจัดการขยะติดเชื้อชุมชนและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 1
ขอบคุณข้อมูลจาก: กรุงเทพธุรกิจ
Share: