ประชุมออนไลน์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่ายประเทศไทย

22 กรกฎาคม 2566 โครงการ MCRP: สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย นำทีมโดย ดร.ผกามาศ ถิ่นพังงา และภาคีเครือข่ายหลัก 2 หน่วยงาน ในประเทศไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Thai Climate Justice for All (TCJA) ร่วมกันจัดประชุมออนไลน์ (Local multi-stakeholder engagement Thailand) แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับภาคีต่างๆ เพื่อมุ่งเน้นทำความเข้าใจประสบการณ์และการรับรู้ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบ และความเสี่ยงของกลุ่มคนชายขอบและกลุ่มเปราะบาง และองค์กรระดับรากหญ้าในการพัฒนาที่แตกต่างกัน บริบททางสังคมวัฒนธรรมและการเมือง บทบาทของแนวทางตามสิทธิในการพัฒนา เพื่ออธิบายประเด็นของความยุติธรรมในการตัดสินใจวางแผนเพื่อออกแบบการพัฒนาเมือง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเน้นย้ำว่าแต่ละกลุ่มคนเข้าใจและวางกรอบความเสี่ยงด้านสภาพอากาศอย่างไร สรุปประเด็นสาระสำคัญได้ดังนี้
  • ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นปรากฏการณ์ของปัญหาการพัฒนาทั้งหมด (เติบโตด้วยการใช้ทรัพยากรไม่ยั่งยืน ความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาไม่ทั่วถึง เชื่อมโยงกับปัญหาต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม) และสะท้อนปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างวิถีสังคมยุคใหม่กับธรรมชาติ
  • ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจึงไม่ได้แยกออกมาโดดเด่น แต่มีบทบาททั้งขยายปัญหาเดิมให้รุนแรงขึ้น และสร้างปัญหาใหม่ที่ไม่เคยประสบ
  • ผลกระทบนั้นเกิดทั้งในภาพรวม และมีลักษณะเฉพาะตามบริบทพื้นที่ สังคม (หากคิดเชิงระบบมากก็จะนามธรรมห่างชีวิต ห่างคิดรูปธรรมเฉพาะหน้าก็ไม่เห็นความเชื่อมโยงของระบบ)
  • การรับรู้ต่อสภาพภูมิอากาศ เป็นการรับรู้จากปัญหารูปธรรมที่มากระทบต่อการดำรงชีพ และวิถีสังคมที่แตกต่างกันไปและเชื่อมโยงไปสู่ด้านต่าง ๆ โยงจากสังคมสู่สาธารณะ หรือสาธารณะสู่ชุมชน
  • การปรับตัวของผู้คนต่าง ๆ จึงเป็นการปรับตัวตามสถานการณ์ที่เผชิญ ซึ่งหลายกรณีสะท้อนความเปราะบางจากความเหลื่อมล้ำ จากนโยบายรัฐ และตลาดเป็นทุนเดิม
  • มีช่องว่างอย่างสำคัญระหว่างรัฐที่กำหนดนโยบายการพัฒนา นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (เชิงเดี่ยว รวมศูนย์ แยกส่วน) กับความเป็นจริงทางนิเวศและสังคมชุมชนที่ซับซ้อน ทำให้แทนที่จะสร้างภูมิคุ้มกันการปรับตัวของชุมชนได้ กลับสร้างปัญหาเพิ่ม
  • เมื่อการรับรู้ปัญหา และผลกระทบ และประสบการณ์ของผู้คนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความแตกต่างหลากหลาย จุดเริ่มต้นการปรับตัวจึงเริ่มได้หลายทาง เริ่มจากปัญหา เริ่มจากแรงบันดาลใจ เริ่มจากรูปธรรม หรือเริ่มจากคุณค่าทางวัฒนธรรม ศิลปะ เกมส์ เริ่มจากชีวิตประจำวัน หรือจากสังคม ทั้งที่เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโดยตรง หรือไม่ทางตรง
  • ทิศทางนโยบายจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จึงเป็นกรอบเดียวกับการปรับหรือเปลี่ยนผ่านการพัฒนาสู่ความยั่งยืนและเป็นธรรมทั้งระบบ คือ กระจายอำนาจ สร้างการมีส่วนร่วมประชาชน สร้างสวัสดิทางสังคม (ด้วยธรรมชาติ ชุมชน สังคม รัฐ) ก้าวข้ามขอบเขต ปรับการพัฒนาให้สมดุลสอดคล้องกับธรรมชาติ
  • ทางเลือกการปรับตัวสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นจุดตัดระหว่างความตระหนัก การวางแผน ความยืดหยุ่น การเข้าถึงข้อมูล การมีอำนาจต่อรองต่อความเปลี่ยนแปลงที่มากระทบ