ภูมิปัญญาท้องถิ่นและการจัดการพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามลำเซบายแหล่งอาหารและวัฒนธรรมของชุมชน

“ลำเซบาย” เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี มุกดาหาร และบางส่วนของจังหวัดร้อยเอ็ด ป่าบุ่งป่าทามเป็นพื้นที่ป่าน้ำท่วมถึง (Flooded forest) ขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายของพรรณพืช เป็นระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะ เป็นแหล่งวางไข่และแหล่งอาศัยที่สำคัญของปลาจากลำเซบาย แม่น้ำมูลและแม่น้ำโขง พื้นที่ป่าบุ่งป่าทามบริเวณตอนกลางของลำเซบาย ในตำบลนาแก อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร เคยถูกทำลายจากการขยายตัวของชุมชนและการจับจองพื้นที่เพื่อทำการเกษตร ส่งผลให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปและกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนอย่างชัดเจน ชาวบ้านจึงร่วมกันจัดการดูแล สร้างกฏเกณฑ์การอนุรักษ์ และใช้เครื่องมือประมงให้เหมาะสมอยู่บนพื้นฐานการไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

นอกจากนี้ ในพื้นที่ยังมี “ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น” ที่รวบรวมองค์ความรู้ท้องถิ่นด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับลำน้ำและป่าบุ่งป่าทามเพื่อส่งต่อให้กับเยาวชนผ่านหลักสูตรท้องถิ่น และการนำภูมิปัญญาพื้นบ้านผสานกับคำอธิบายตามหลักวิชาการในเรื่องของความสำคัญของระบบนิเวศลุ่มน้ำและป่ามาช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่น และใช้เป็นข้อมูลในการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลปกป้องลำเซบายและทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป