ลงพื้นที่สำรวจและสัมภาษณ์เครือข่ายชุมชนและเกษตรกรเพื่อหาแนวทางในการลดการเผาผ่านการจัดการขยะและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างยั่งยืนของชุมชนในจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดขอนแก่น

7-11 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยโครงการพัฒนาเครือข่ายชุมชนและเกษตรกรอาชีวศึกษาสู่การจัดการขยะและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา: พื้นที่จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดขอนแก่น นำโดย คุณสุทัสสา วงศ์ราช หัวหน้าโครงการและคณะวิจัย พร้อมด้วยคณะอาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันและสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมลงพื้นที่สำรวจและสัมภาษณ์เครือข่ายชุมชนและเกษตรกรโครงการอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท (อศ.กช) ในชุมชนเป้าหมาย 5 ชุมชน โดยชุมชนในจังหวัดมหาสารคาม ได้แก่ ชุมชนบ้านแห่เหนือ ชุมชนบ้านหนองยาง และชุมชนบ้านน้ำใส  รวมถึงชุมชนในจังหวัดขอนแก่น ได้แก่ ชุมชนบ้านหนองไฮ และชุมชนบ้านคำแคนใต้ 

ในการสัมภาษณ์เครือข่ายชุมชนและเกษตรกรครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยและการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของเกษตรกรในแต่ละชุมชน  โดยจะนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ศักยภาพและต้นทุนการบริหารจัดการเทคโนโลยีจัดการวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรและขยะในชุมชน นำไปสู่การคัดเลือกแนวทาง องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่จะนำไปใช้ในพื้นที่ให้เหมาะสม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาองค์ความรู้และเพิ่มศักยภาพของเครือข่ายชุมชนและเกษตรกรในโครงการอาชีวศึกษา รวมถึงเกิดการพัฒนาเครือข่ายชุมชนและเกษตรกรนำร่องให้สามารถเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นด้านการจัดการขยะและการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อลดการเผาอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้จากการสัมภาษณ์เครือข่ายชุมชนและเกษตรกรทั้ง 5 ชุมชน ในสองจังหวัด พบว่าในเกษตรกรส่วนใหญ่ในชุมชน มีการเพาะปลูกข้าว ทำไร่มันสำปะหลัง และไร่อ้อย ตามลำดับ ส่งผลให้เกิดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรตามมาได้แก่ ฟางข้าว เหง้ามันสำปะหลัง และเศษใบอ้อย ในขณะที่การจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนพบว่าในชุมชนส่วนใหญ่มีการคัดแยกขยะ โดยการนำเศษอาหารไปทำปุ๋ย หรือนำไปเป็นอาหารสัตว์ในส่วนขยะรีไซเคิลไปขายจะถูกคัดแยกเพื่อนำไปขายให้กับร้านเก็บของเก่าที่เข้ามารับซื้อในพื้นที่ รวมถึงในชุมชนยังมีถังขยะอันตรายประจำหมู่บ้าน เพื่อให้คนในชุมชนนำมาทิ้งเพื่อให้ อบต. นำขยะอันตรายไปจัดการต่อ ทั้งนี้จึงต้องมีการส่งเสริมให้เกิดการจัดการขยะที่ต้นทาง เพื่อเป็นการลดขยะที่แหล่งกำเนิดและใช้ประโยชน์จากขยะมูลฝอยให้ได้สูงสุด นำไปสู่การลดปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในชุมชนต่อไป