"เราจะช่วยกันฟื้นฟูและรักษาสิ่งดีงามของเชียงราย ให้คนเชียงรายรู้จักและภูมิใจ ให้คนข้างนอกมาเที่ยว มาดู"
คุณวิน นเรนทรเสนี ประธานสภาคนฮักเจียงฮาย กล่าวในการประชุม เมื่อ 27 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องประชุมสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน สาขาเชียงราย
การพบปะในวันนั้น ยังได้มีโอกาสฟังอาจารย์ปริญญา กายสิทธิ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เล่าอดีตการสร้างบ้านแปงเมืองในแอ่งเชียงราย ที่มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ยุคหิน แล้วค่อย ๆ ตั้งหลักแหล่งทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ โดยมีหลักฐานพบเวียงโบราณเล็ก ๆ กระจายทั่วไป อาจารย์ปริญญาอธิบายว่า “เวียง” เป็นหย่อมการตั้งถิ่นฐานที่มีการขุดลำน้ำล้อมรอบหลายๆ เวียงรวมกันเป็น “เชียง” ที่มีระบบการปกครองเข้ามา
เชียงรายในตำนานผ่านมาหลายสมัย จนมาถึงพุทธศตวรรษที่ 19 ยุคพญามังรายสร้างเมือง (คนมักเข้าใจพระนามของพระองค์ผิดไปเป็นพระยาเม็งราย) เริ่มต้นที่ดอยจอมทองเป็นศูนย์กลางเมือง แล้วสร้างประตูเมืองและกำแพงเมืองล้อมรอบ สร้างหลักเมือง มีมังรายศาสตร์ที่น่าสนใจ ฯลฯ ต่อมา เชียงรายตกอยู่ภายใต้การปกครองของเชียงใหม่ และเป็นเมืองขึ้นของพม่ากว่า 200 ปี ก็ได้รับการฟื้นฟู หลังจากเชียงรายกอบกู้เอกราชกลับมา กระทั่งในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็เปลี่ยนรูปแบบการปกครอง
ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนาน ทำให้เชียงรายมีสถานที่สำคัญมากมาย อาทิ เสาสะดือเมือง วัดพระแก้ว วัดกลางเวียง วัดพระสิงห์ ดอยจอมทอง ดอยงำเมือง (ที่ประดิษฐานพระอัฐิพญามังราย) ศาลากลางหลังแรกอายุกว่า 120 ปี ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ แม่น้ำ คู คลอง โดยมีแม่น้ำกกเป็นลำน้ำสายหลักไหลผ่าน แล้วไหลย้อนขึ้นไปออกแม่น้ำโขง และมีแม่น้ำสายสั้น ๆ ได้แก่ ลาว สาย จัน อิง และคำ รวมเป็น 7 สาย จึงเรียกว่า “เมืองเจ็ดสายน้ำ”
คุณเบญจมาส โชติทอง จากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ซึ่งได้ร่วมสำรวจข้อมูลเมืองเชียงราย ภายใต้โครงการ URBAN และเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เห็นว่าสภาคนฮักเจียงฮาย จะเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูวัฒนธรรมและธรรมชาติของเมืองเชียงราย ให้สามารถตั้งรับและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ต่อไป
Share: