อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นควบคู่กับการสร้างมูลค่าจากการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

“การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชพื้นถิ่น นอกจากได้ความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและใจของคนในชุมชนด้วย สมาชิกที่มาร่วมเกิดความสุขและทำควบคู่กันไปให้เกิดเป็นการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในอนาคต“ คำพูดดังกล่าวเป็นจุดมุ่งหมายเดียวกันของเครือข่าย ทสม. ตำบลเลยวังไสย์ ที่ร่วมกันทำงานด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชน

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) โดย คุณเรไร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมอาสาสมัครสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) โดย ดร.จีรนุช ศักดิ์คำดวง ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมคณะ ได้ร่วมประชุมกับเครือข่าย ทสม. ตำบลเลยวังไสย์ เมื่อวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2567 เพื่อถอดบทเรียน บันทึก และถ่ายทอดเรื่องราวผลสำเร็จจากการดำเนินงานของเครือข่ายฯ

เดิมในพื้นที่ตำบลเลยวังไสย์ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่นั้นทำเกษตรเชิงเดี่ยว เกิดการแผ้วถางและรุกพื้นที่ป่าเพื่อใช้ที่ดินทำการเกษตร ทำให้ทรัพยากรป่าไม้ที่ชุมชนเคยใช้ประโยชน์เสื่อมโทรมและลดน้อยลง นายแสวง ดาปะ ประธานเครือข่าย ทสม. ตำบลเลยวังไสย์ และสมาชิกเครือข่ายฯ เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของป่าไม้และชนิดพันธุ์ท้องถิ่น จึงดำเนินงานร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่ออนุรักษ์และต่อยอดให้เกิดมูลค่าจากการใช้ประโยชน์พืชท้องถิ่น

จากการร่วมคิดร่วมทำของเครือข่ายฯ เกิดเป็นกิจกรรมต่างๆ เช่น ธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชน การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชพื้นถิ่น เช่น ข้าวเหนียวแดงเมืองเลย ฝ้ายตุ่ย ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ‘ผ้าฝ้ายย้อมสีจากพืชและวัสดุธรรมชาติ’ นอกจากนี้ได้จัดตั้งตลาดปันรักษ์ ขุนเลย ที่มีทุกวันอาทิตย์ เพื่อให้คนในชุมชนได้นำอาหารพื้นบ้านมาจำหน่ายและแลกเปลี่ยนกัน การดำเนินงานอย่างเข้มแข็งทำให้คนในชุมชนสนใจร่วมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพื้นถิ่น และได้รับการยอมรับทั้งระดับตำบลและระดับจังหวัด อีกทั้งได้มีการขยายผลไปยังพื้นที่ตำบลใกล้เคียงเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพต่อไป