ลุ่มน้ำคลองดูสน-คลองมำบัง สายน้ำหล่อเลี้ยงคนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จังหวัดสตูล

ประสบการณ์และบทเรียนการอนุรักษ์และฟื้นฟูคลองดูสน-คลองมำบัง ตลอด 78 กิโลเมตร โดย *เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรหมู่บ้าน (ทสม.) จังหวัดสตูล ได้อาศัยข้อมูลและการเรียนรู้จริงจากการศึกษาวิจัย ร่วมกันระหว่างชุมชน ภาครัฐท้องถิ่น และนักวิชาการ เพื่อนำไปสู่การออกแบบการจัดการน้ำให้เกิดความเหมาะสม ในการตั้งรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  และเอื้อให้คนอยู่ร่วมกับระบบนิเวศอย่างเกื้อกูล*

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) โดย คุณเรไร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการส่งเสริมอาสาสมัครสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) โดย คุณเบญจมาส โชติทอง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการและแผนงาน พร้อมคณะ ได้ร่วมประชุมกับเครือข่าย ทสม. จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 เพื่อถอดบทเรียน บันทึก และถ่ายทอดเรื่องราวการดำเนินงานของเครือข่ายฯ 

กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ผู้นำและสมาชิกเครือข่าย ทสม. จังหวัดสตูล ต่างก็เห็นการเปลี่ยนแปลงของคลองดูสน-คลองมำบัง จากการพัฒนาโครงสร้างริมสองฝั่งคลอง การขุดลอกคลอง การทิ้งขยะ การขยายเมืองและพื้นที่เกษตร สภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ระบบน้ำเปลี่ยนไป น้ำในคลองขุ่นไม่มีทราย ปนเปื้อนขยะและน้ำเสีย น้ำแห้งมากขึ้น ตลิ่งสูง และน้ำทะเลหนุนสูงขึ้น 

ทำให้เกิดการประชุมหารือและสำรวจสายน้ำทั้งเส้นหลักและเส้นรอง นำข้อมูลมาวิเคราะห์ร่วมกัน มีการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งร่วมวางแผนพัฒนากับหน่วยงานต่าง ๆ นำไปสู่การพัฒนาคนและเครือข่าย เชื่อมร้อยคนต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ยกระดับความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง สร้างการยอมรับในบทบาทของชุมชน และ ทสม. ในการมีส่วนร่วมจัดการแหล่งน้ำ โดยยังคงต้องการให้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำของภาครัฐคำนึงถึงความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ และต้องการปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่มีความรู้และตระหนักในเรื่องนี้ให้มากขึ้น