แลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการพัฒนาพื้นที่แม่แจ่ม ลดการเผาได้อย่างไร

12 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ภายใต้การดำเนินงานโครงการความร่วมมือไทย-ลาว-เมียนมา ขับเคลื่อนการจัดการและลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน นำโดยคุณวิลาวรรณ น้อยภา หัวหน้าโครงการและคณะนักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดอบรมเชิงปฏิบัติการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการลดการเผาด้วยวิถีปฏิบัติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ณ พื้นที่ต้นแบบ สวพส. อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ให้กับผู้บริหารรัฐ ผู้นำชุมชนท้องถิ่น ท้องที่จาก อ.แม่สรวย และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เจ้าหน้าที่และผู้นำเมืองปากทา แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว รวม 60 คน 

30 ปี แห่งการบ่มเพาะความร่วมมือ 30 ปี ได้บ่มเพาะทั้งความขัดแย้งของรัฐและประชาชนในพื้นที่แม่แจ่ม ซึ่งมีพื้นที่มากถึง 1,700,000 ไร่  สภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูง มีที่ราบตามเชิงเขา ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม มีทั้งหมด 7 ตำบล 106 หมู่บ้าน ประชากรกว่า 59,000 คน มีทั้งคนเมือง ม้ง ลัวะ ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) เพราะต่างคนต่างบอกว่าอีกฝ่ายบุกรุกพื้นที่ป่าและผิดกฎหมาย จึงมีการหารือภาพใหญ่เพื่อที่จะคุ้มครองผืนป่าให้เกิดการจำกัดของการบุกรุกป่าเพื่อปลูกข้าวโพด โดยการจัดการขอบเขตที่ดิน หารือเรื่องสิทธิในที่ดินเพื่อเป็นความมั่นคง มองเรื่องการจัดการน้ำและเสริมพืชทางเลือกลดการเผา ปรับวิถีการผลิต โดยได้รับเกียรติจาก นายสุระวุธ จันทร์งาม นายอำเภอแม่แจ่ม กล่าวต้อนรับและให้แนวคิดและแนวปฏิบัติการบูรณาการการทำงานของอำเภอแม่แจ่ม ร่วมกับภาคประชาสังคม และองค์กรภาคี พร้อมด้วยนายเดโช ไชยทัพ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) ร่วมถ่ายทอดข้อมูลและพัฒนาการก่อนจะมาเป็นพื้นที่ต้นแบบแห่งหนึ่ง ที่ชาวบ้านได้ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและปากท้องของพวกเขา โดยการลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยว ลดปัญหาการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำ ลดฝุ่นควันจากการเผาซากไร่ และส่งเสริมการปลูกไผ่ กาแฟ  ผลไม้ ผักอินทรีย์ การแปรรูป จัดหาตลาดรองรับ ซึ่งต้องมอบการบริหารจัดการทั้งระบบตั้งแต่ ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ และการกำหนดขอบเขตพื้นที่ทำกิน ให้สิทธิพื้นที่ทำกิน ในรูปแบบการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.)​​​ในปัจจุบัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งสำคัญในการเปิดโลกทัศน์การเรียนรู้เชิงประจักษ์และเชิงลึกในบริบทของพื้นที่การพัฒนาในพื้นที่สูงและวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ที่คลุกคลีการทำงานในพื้นที่มามากกว่า 30 ปี และการบูรณาการความร่วมมือ บทบาทการทำงาน ปัญหา อุปสรรค การก้าวผ่านความขัดแย้งให้เกิดการทำงานที่หนุนเสริมกันในปัจจุบัน