โมเดลความร่วมมือบริหารจัดการวิกฤติขยะมูลฝอยเกาะ สู่เกาะไร้ถัง ไร้หลุม

7-8 มิถุนายน 2567 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) นำโดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผอ.สถาบันฯ คุณวิลาวรรณ น้อยภา ผอ.ฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติ และคณะนักวิจัย ร่วมจัดเสวนาชาวเกาะ ”การท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน 2567: ผนึกพลังคุณค่า สู่มูลค่าใหม่ของเกาะไทย“ ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ การพัฒนาโมเดลความร่วมมือบริหารจัดการวิกฤติขยะมูลฝอยเกาะ สู่เกาะไร้ถัง ไร้หลุม ทำได้จริง? ในฐานะภาคีดำเนินงานขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะและพลาสติก ในพื้นที่เกาะลันตาอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน ภายใต้โครงการพัฒนาโมเดลความร่วมมือในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) การจัดการขยะและขยะพลาสติกด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่เกาะของประเทศไทย กรณีศึกษาพื้นที่เกาะลันตา

การเสวนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ผู้นำเกาะ- กลุ่มเกาะเล็ก กลาง ใหญ่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สะท้อน ย้อนฟัง พร้อมตั้งรับปรับตัว สู่การจัดการสิ่งแวดล้อมเกาะที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ดร.ไพบูลย์ โพธิ์สุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการชุมชนไร้ถัง คุณบุญชนิต ว่องประพิณกุล ผู้จัดการพลาสติก สมาร์ทซิตี้ WWF ประเทศไทย คุณถนัด ดอกพุฒ ผู้จัดการโรงงานวงษ์พาณิชย์กระบี่ ร่วมเติมเต็มองค์ความรู้ จุดประกาย ขยายผล ส่งต่อแนวปฎิบัติที่ดีในการจัดการขยะมูลฝอย เพื่อให้เกิดระบบการจัดการที่ต้นทาง กลางทาง และนำส่งไปใช้ประโยชน์ยังปลายทางได้อย่างเหมาะสม พัฒนาขับเคลื่อนสู่เกาะไร้ถัง ไร้หลุม

ทั้งนี้ ผู้นำเกาะได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ความร่วมมือของภาคีในพื้นที่ หลักการจัดการแบบมีส่วนร่วมและแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการนำวัสดุบางส่วนหมุนเวียนใช้ประโยชน์บนเกาะ บางส่วนรวบรวมไปขายสร้างรายได้ ทำให้ช่วยลดปริมาณขยะกำจัดยังหลุมฝังกลบ ลดปัญหาวิกฤติขยะมูลฝอยเกาะ เพราะหมู่เกาะต่าง ๆ เป็นต้นทุนธรรมชาติที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากหลากหลายมุมโลก เดินทางมาท่องเที่ยว ควบคู่กับการดูแลรักษาดุลยภาพสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกับประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชน มุ่งเน้นให้เกิดจิตสำนึกต่อการรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน คงไว้ซึ่งคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีของแหล่งท่องเที่ยวเกาะ  แล้วพบกันใหม่ Island Tourism Symposium 2025 ครั้งที่ 3 ณ เกาะช้าง จิก กูด หมาก จังหวัดตราด