ศึกษาการจัดการมูลฝอยติดเชื้อชุมชนและขยะบรรจุภัณฑ์เพื่อสะท้อนข้อมูล สู่การจัดทำข้อเสนอและแนวทางการจัดการสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ

สถานการณ์ของมูลฝอยติดเชื้อและบรรจุภัณฑ์จากพลาสติก ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศ พบว่าพื้นที่ในเขตเมือง กรุงเทพมหานคร และเมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ อย่างเช่น พื้นที่อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ พบปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

1-3 พฤศจิกายน 65 โครงการ CIWE65 นำโดยคุณวิลาวรรณ น้อยภา คุณวิศรา หุ่นธานี และคณะนักวิจัยโครงการ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการขยะติดเชื้อชุมชนและขยะบรรจุภัณฑ์ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่วนกลาง ประกอบด้วย ว่าที่ร้อยตรีขรรค์ไชย ทันธิมา ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดร.ปิยะดา หวังรุ่งทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผศ.ดร.ประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และคุณพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 

พบว่า ขยะติดเชื้อชุมชนขาดการคัดแยกจากขยะทั่วไป จึงปนเปื้อนไปที่บ่อฝังกลบและเตาเผา การสื่อสารสร้างการรับรู้ยังไม่เพียงพอ จึงควรต้องเร่งเสริมกระบวนการสร้างความตระหนักรู้ให้มากขึ้น ส่วนขยะบรรจุภัณฑ์ ที่มีปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการได้ไม่เท่าทัน จึงต้องเร่งสร้างความร่วมมือและเพิ่มศักยภาพให้เกิดการบริหารจัดการและวางระบบ ตลอดจนการสร้างความมั่นใจในการคัดแยกขยะแต่ละประเภทอย่างจริงจัง รวมถึงส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนไปพร้อม ๆ กัน