27 มิถุนายน 2567 ดร.กฤษฎา บุญชัย Thai Climate Justice for All ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “นโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate policy) เพื่อความเป็นธรรมด้านภูมิอากาศ (climate justice)” และดำเนินเวทีเสวนาสำคัญ 2 เวที ที่เน้นหนุนเสริม และตอกย้ำความสำคัญของการเตรียมความพร้อม รับมือ ปรับตัวของชุมชนเมือง จากผลกระทบจากการพัฒนาเมืองที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติผ่านการสนับสนุนจากภาคประชาสังคมและภาควิชาการ ประกอบด้วย
เวทีเสวนา
“บทบาทของภาคประชาสังคม กับการขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของเมืองและชุมชน อย่างเป็นธรรม” เพื่อแลกเปลี่ยนประสบวการณ์ในการทำงานทั้งในภาคส่วนของภาคประชาสังคม ภาควิชาการและสื่อสาธารณะที่ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย คุณพูนสมบัติ นามหล้า มูลนิธิชุมชนอีสาน คุณบุษกร สุริยสาร ผู้อำนวยการมูลนิธิต้นกล้ารักษ์โลก คุณชาคริต โภชะเรือง ตัวแทนภาคประชาสังคมภาคใต้ คุณณัฐกฤตา อารมณฤทธิ์ ตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจตลาดรถเขียวเมืองควนลัง หาดใหญ่ สงขลา และอาจารย์สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และ คุณสุมาลี สุวรรณกร ผู้ประสานเครือข่าย Spark U ขอนแก่น เป็นผู้ดำเนินเวทีเสวนา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเวทีกลางในการดึงทุกภาคส่วนมาร่วมพูดคุยหารือร่วมกัน และประเด็นที่ควรหารือคือการจัดตั้งกองทุนในการพัฒนาพื้นที่เมืองที่มีปัญหา เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที
เวทีเสวนา
“บทบาทภาควิชาการในการสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate adaptation) ด้วยข้อมูลวิทยาศาสตร์ เครื่องมือ และเทคโนโลยี เพื่อหนุนเสริมชุมชนและท้องถิ่น” โดยรศ.ดร.ยรรยงค์ อินทร์ม่วง ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ดร.อโศก พลบำรุง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ดร.ศยามล สายยศ กรมโยธาธิการและผังเมือง Dr Han Aarts – Maastricht University และคุณสมภพ วิสุทธิศิริ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก (สงขลา) โดยดร.อนุวัฒน์ พลทิพย์ มหาวิทยาลัยนครพนม เป็นผู้ดำเนินเวทีเสวนา และร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นจากผู้แทนของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยรับฟังความสำเร็จจากโครงการของภาควิชาการที่หนุนเสริมระบบเตือนภัยของบ้านไผ่ และแลกเปลี่ยนตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นของข้อมูลพื้นฐาน กลไก และกระบวนการในการสร้างความร่วมมือของภาควิชาการเนื่องจากการพัฒนาเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องใช้ภาควิชาการหลากหลายสาขามาร่วมบูรณาการความร่วมมือเพื่อสร้างการรับรู้ เข้าใจ ตระหนัก ต่อสถานการณ์ได้อย่างครอบคลุมครบทุกมิติยิ่งขึ้น
โดยในที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า หน่วยงานส่วนกลางที่มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย กฎหมาย พรบ. เทศบัญญัติ หรือธรรมนูญจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจำเป็นต้องพิจารณามิติด้านสังคมควบคู่กันไปด้วย และต้องปรับตัวให้อยู่บนฐานระบบนิเวศที่เอื้อและเกื้อหนุนสิ่งมีชีวิต และให้ความสำคัญถึงความเป็นธรรมด้านภูมิอากาศสำหรับกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้หญิง กลุ่มชาติพันธุ์ ให้มากที่สุด อีกทั้งต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลพื้นฐาน กลไก และกระบวนการและเวทีกลางในการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วน เนื่องจากการพัฒนาเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องใช้ความรู้ ความสามารถ จากหลากหลายสาขามาร่วมบูรณาการความร่วมมือเพื่อสร้างการรับรู้ เข้าใจ ตระหนัก ต่อสถานการณ์ได้อย่างครอบคลุมครบทุกมิติ และที่สำคัญการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างเข้มแข็งและความร่วมมือของท้องที่ท้องถิ่น จะสามารถนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งและเตรียมความพร้อมของทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม เท่าเทียม และเป็นธรรมได้อย่างแน่นอน
Share: