ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพการจัดทำแผนผังภูมินิเวศกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

16 สิงหาคม 2566 ภายใต้โครงการ SUCCESS สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพการจัดทำแผนผังภูมินิเวศกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำโดย ดร.ผกามาศ ถิ่นพังงา ร่วมกับมูลนิธิชุมชนสงขลา (SCF) จัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพการจัดทำแผนผังภูมินิเวศกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสรุปสาระสำคัญคือ

ดร.ธงชัย โรจนกนันท์ ให้แนวคิดการแก้ปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติโดยใช้ผังภูมินิเวศต้องใช้เวลา ไม่เหมือนการแก้ปัญหาโดยสิ่งก่อสร้าง ผังภูมินิเวศคือการรื้อฟื้นระบบนิเวศให้สู่ระบบเดิม การปลูกป่าโดยเก็บน้ำไว้ที่ต้นน้ำให้มากที่สุดบนภูเขาต้องสร้างระบบนิเวศให้กลับมามีต้นไม้มีธรรมชาติให้มาก คือการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตอย่างสมดุลและเกื้อกูลกัน สิ่งที่ควรทำอันดับแรกคือ ต้องรู้ว่าอะไรบ้างเป็นระบบนิเวศเด่นที่ใช้ในชุมชนได้ เป็นการพึ่งพาใช้กลไกของธรรมชาติมาแก้ปัญหาภัยธรรมชาติ
ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ กล่าวถึงความสำคัญของการจัดทำแผนผังภูมินิเวศ “น้ำ”เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับระบบนิเวศ  มนุษย์สร้างเมืองจากต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ และล้วนมีผลกระทบต่อระบบนิเวศต่างกันไป ระบบนิเวศธรรมชาติมีความเปราะบาง และได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่กำลังขยายตัวรวดเร็ว ชุมชนที่พัฒนาโดยไม่คำนึงถึงระบบนิเวศมักก่อปัญหาที่ร้ายแรงและแก้ยาก แนวคิดในการสร้างความกลมกลืนระหว่างเมืองและระบบนิเวศ โดยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีคุณค่า เพื่อให้การพัฒนาเมืองและชุมชนเป็นไปอย่างยั่งยืน แนวคิดแผนผังภูมินิเวศได้ถูกผลักดันในยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรามีแผนพัฒนา แต่แผนพัฒนาไร้เทียมทาน ไร้ทิศทาง ไม่ได้คำนึงถึงชนรุ่นหลังและธรรมชาติ การวางแผนผังเมือง ไม่ได้คิดถึงสิ่งแวดล้อมไม่เข้าใจธรรมชาติ แผนผังภูมินิเวศไม่ใช่คำตอบแต่เป็นเพียงเครื่องมือ โดยแผนผังภูมินิเวศเป็นการพัฒนายุทธศาสตร์ไม่ใช่การพัฒนาโครงการ เป็นการมองไกลไม่ใช่มองใกล้ มีประเด็นอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง เช่น การพัฒนาเมือง การพัฒนาที่อยู่อาศัย เรื่องมลพิษ แต่ละเทศบาลแต่ละชุมชนต้องหาประเด็นยุทธศาสตร์ให้เจอ และพื้นที่ยุทธศาสตร์ต้องมีความชัดเจน และการนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ การทำแผน ผัง ภูมินิเวศ ต้องหาแผนพัฒนาของเราให้เจอหลังจากมีแผนยุทธศาสตร์แล้ว อะไรที่เป็นปัญหาที่ต้องฟื้นฟู การอนุรักษ์สิ่งที่ดีเอาไว้ สิ่งที่เราจะทำกันก่อนคือ การพัฒนา แต่เราไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรคือนวัตกรรมที่จะพัฒนาต่อ