10 พฤษภาคม วันป่าชายเลนแห่งชาติ

กลุ่มงาน: ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

พังกา-ถั่วขาว ชนิดพันธุ์ไม้ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติในป่าชายเลนไทย

ไม้พังกา-ถั่วขาว (Bruguiera hainesii) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง จัดอยู่ในวงศ์ (Family) เดียวกับโกงกาง พบในป่าชายเลนใกล้ฝั่งที่น้ำท่วมถึงน้อย ช่วยยึดดินและลดแรงคลื่นได้ดี ที่เรียกกันว่า “พังกา-ถั่วขาว” เนื่องจากมีลักษณะเหมือนลูกผสมระหว่างไม้พังกาหัวสุมกับไม้ถั่วขาว โดยมีดอกเล็กสีเขียวอ่อน กลีบดอกแยกเป็นแฉกแหลม ออกดอกตลอดทั้งปี แต่ไม่ค่อยติดฝัก และฝักมักร่วงก่อนจะแก่ ทำให้เป็นข้อจำกัดในการกระจายพันธุ์ 

เมื่อก่อน ชาวประมงนิยมใช้ไม้ชนิดนี้ทำโครงเรือและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากเป็นไม้เนื้อแข็งและทนทาน แต่ปัจจุบันเลิกใช้ในเชิงพาณิชย์เพราะใกล้สูญพันธุ์

ดังรายงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (2567) ระบุว่าป่าชายเลนไทยมีจำนวนต้นแม่พันธุ์พังกา-ถั่วขาวที่สมบูรณ์น้อยมาก พบเพียงบางพื้นที่ ได้แก่ ป่าชายเลนบางปะกง (ฉะเชิงเทรา), พังงา และตรัง และได้รับการจัดอยู่ในสถานะ “ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ” (Critically Endangered - CR)

แม้มีสัญญาณที่ดี ว่าพื้นที่ป่าชายเลนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนไร่ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ระหว่างปี 2557-2567)  ทำให้ปัจจุบันมีป่าชายเลนคงสภาพราว 1.73 ล้านไร่ (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2567) อันเป็นผลจากความร่วมมือในการอนุรักษ์ป่าชายเลนของหลายภาคส่วน และการขยายพันธุ์ของพืชป่าชายเลนตามธรรมชาติจากตะกอนชายฝั่งที่เพิ่มขึ้นในบางพื้นที่

แต่การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินบริเวณชายฝั่ง ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม และสภาพอากาศสุดขั้ว ก็เกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมให้พืชชนิดนี้มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เร็วขึ้น

ในวันป่าชายเลนแห่งชาติ วันที่ 10 พฤษภาคม เป็นโอกาสสำคัญที่เราทุกคนจะร่วมดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ช่วยกันปลูกพันธุ์ไม้พื้นถิ่นใกล้สูญพันธุ์ ทั้งไม้พังกา-ถั่วขาว และพันธุ์ไม้อื่น ๆ คืนสู่ผืนป่า อันเป็นแหล่งอาหารและแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพให้ยังคงอยู่ต่อไป


เรียบเรียงโดย: อุมาพร ทองหรบ เจ้าหน้าที่โครงการ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
แหล่งข้อมูล: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI)