กลุ่มงาน: การปรับตัว
วันปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศสากล (The International Day of Climate Action) เป็นวันสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมอีกวันหนึ่งที่ได้ถูกกำหนดขึ้นโดยประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ซึ่งตรงกับวันที่ 24 ตุลาคมของทุกปี โดยในวันนี้ผู้คนทั่วโลกจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเรียกร้องข้อตกลงหรือนโยบายที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ รวมทั้ง เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การลดการปล่อยคาร์บอน และการส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยในช่วงที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายทั้งระดับของปัญหาและความถี่ของการเกิดปัญหา ซึ่งได้ส่งผลกระทบในทุกมิติ
ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหานั้นเกิดจากปัจจัยหลายสาเหตุ ทั้งในการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว การขยายตัวของเมือง การลงทุนด้านอุตสาหกรรม และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่อการดำรงชีวิตและตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมานั้น นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมาเรียกร้องให้ทั่วโลกเร่งแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเห็นได้จากสถิติอุณหภูมิโลกที่พุ่งสูงสุดในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 เท่าที่เคยมีการบันทึกมาในประวัติศาสตร์ จากข้อมูลดังกล่าวได้เป็นการชี้ชัดให้เห็นได้ว่ายุคของโลกร้อน (Global Warming) ได้สิ้นสุดลงแล้ว และต่อจากนี้ไปโลกได้เข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling) และจากรายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme หรือ UNEP) ได้ระบุว่าโลกกำลังมีอุณหภูมิพื้นผิวเพิ่มขึ้นและจะพุ่งสูงไปแตะอยู่ที่ 2.4 องศาเซลเซียส ถึง 2.6 องศาเซลเซียส ภายในปี ค.ศ. 2100 หากประเทศต่าง ๆ ไม่ทำตามคำมั่นสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศ อาจทำให้ในปี ค.ศ. 2030 อุณหภูมิโลกอาจสูงไปถึง 2.8 องศาเซลเซียส
อีกหนึ่งในความหวังที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังจับตามอง คือ การประชุมสมัชชาภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 หรือ COP 29 ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ในระหว่างวันที่ 11 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ที่จะถึงนี้ ซึ่งรัฐภาคีจำนวน 198 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยจะได้มีการขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหลากหลายประเด็นต่อเนื่องจากการประชุม COP 28 ที่ผ่านมา หนึ่งในหัวข้อหลักสำคัญที่จะมีการพูดคุยเจรจากันอย่างจริงจังภายในการประชุม COP 29 คือ การปรับปรุงและยกระดับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Nationally Determined Contributions : NDCs) ของแต่ละประเทศให้มีความเข้มข้นและสอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวที่จะรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี ค.ศ. 2100 โดยแต่ละประเทศจะต้องส่งมอบแผนการดำเนินงานและเป้าหมาย NDCs ให้แก่ UNFCCC ก่อนที่จะมีการประชุม COP 30 ในปี ค.ศ. 2025 และอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ คือ การผลักดันการกำหนดเป้าหมายทางการเงินใหม่ (New Collective Quantified Goal on Climate Finance หรือ NCQG) ซึ่งออกแบบมาเพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการดำเนินการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายหลังปี ค.ศ. 2025 ทั้งนี้ ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องให้ความสำคัญกับการสนับสนุนทางการเงินประมาณ 1.1 - 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 40.15 - 47.45 ล้านล้านบาทให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส ซึ่งการประชุม COP 29 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการสร้างข้อตกลงด้านการเงินที่จำเป็นต่อการต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ความร่วมมือของนานาชาติจะเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานสะอาดและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ในฐานะที่เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ที่ดำเนินงานในรูปแบบสถาบันวิชาการอิสระและเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมในการยกระดับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอันครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคตามมาตรฐานสากลที่ยึดมั่นในความเป็นกลาง เพื่อร่วมสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว TEI จึงได้ร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วนทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศตั้งแต่ระดับเชิงนโยบายจนไปสู่การปฏิบัติในเชิงพื้นที่ในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเน้นการดำเนินงานในทุกมิติ ได้แก่ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ รวมถึงการสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ TEI ได้มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการขององค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Thailand Business Council for Sustainable Development (TBCSD) ซึ่ง TBCSD เป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรภาคธุรกิจชั้นแนวหน้าของประเทศไทยที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน อันครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ปัจจุบันองค์กรภาคธุรกิจได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของประเทศให้ก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในช่วงที่ผ่านมา TBCSD ในฐานะเครือข่ายธุรกิจด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดเครือข่ายหนึ่งของประเทศ ได้ร่วมยกระดับองค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่มาตรฐานการเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน โดยร่วมมือกับองค์กรภาคีทุกภาคส่วน ในการกำหนดเป้าหมาย มาตรการและกรอบกิจกรรมที่ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการร่วมกัน อันเป็นการแสดงออกถึงพลังจากการรวมตัวขององค์กรภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำและยั่งยืนที่เชื่อมต่อเป้าหมายของประเทศและระดับนานาชาติ รวมทั้ง องค์กรสมาชิก TBCSD ได้ร่วมประกาศจุดยืนในการมุ่งขับเคลื่อนไปสู่การเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business) เพื่อร่วมสนับสนุนนโยบายของประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 และ Net Zero GHG Emission ในปี ค.ศ. 2065 ไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน อันเป็นการยกระดับประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามเป้าหมายของประเทศ
Share: