24 ตุลาคม วันโลมาน้ำจืดโลกกับการฟื้นฟูแหล่งน้ำและการอนุรักษ์โลมาน้ำจืด

กลุ่มงาน: ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

วันโลมาน้ำจืดโลกกับการฟื้นฟูแหล่งน้ำและการอนุรักษ์โลมาน้ำจืด

วันโลมาน้ำจืดโลก หรือ International River Dolphin Day ถูกกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 24 ตุลาคมของทุกปี เพื่อย้ำเตือนผู้คนถึงการมีอยู่ของโลมาน้ำจืด ซึ่งในปัจจุบันหลงเหลือเพียง 6 สายพันธุ์ทั่วโลก และโลมาน้ำจืดเหล่านี้ยังถูกจัดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) หรือใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) ในบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์-ธรรมชาติ (IUCN Red List) อีกด้วย

นับตั้งแต่ ค.ศ.1980 ประชากรปลาโลมาน้ำจืดลดลงถึง 73% (WWF, 2023) โดยมีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมการประมง การเดินเรือ กิจกรรมบริเวณแม่น้ำ เช่น การสร้างเขื่อนชลประทาน การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ การขุดลอกคลอง การทำการเกษตร เหมืองแร่ และการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ และรบกวนแหล่งที่อยู่อาศัยของโลมาน้ำจืดอีกด้วย (Willems et al., 2021)

ปัจจุบัน พบการกระจายตัวของโลมาน้ำจืดทั่วโลก ในบริเวณลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ ลุ่มแม่น้ำอเมซอน/โอรีโนโก ลุ่มแม่น้ำสินธุ ลุ่มแม่น้ำคงคา-พรหมบุตร-เมฆนา ลุ่มแม่น้ำอิรวดี ลุ่มแม่น้ำแยงซี ลุ่มแม่น้ำมหกรรม รวมถึงลุ่มแม่น้ำโขง (Willems et al., 2021)
กล่าวได้ว่า การมีอยู่ของโลมาน้ำจืดถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่แสดงถึงคุณภาพและความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ประเทศแหล่งที่อยู่อาศัยของโลมาน้ำจืดเหล่านี้ เริ่มให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูคุณภาพแหล่งน้ำ และอนุรักษ์โลมาน้ำจืดมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ผู้แทนจาก 9 ประเทศแหล่งที่อยู่อาศัยของโลมาน้ำจืด ได้แก่ บังกลาเทศ โบลิเวีย บราซิล กัมพูชา โคลอมเบีย เอกวาดอร์ อินเดีย เนปาล และเวเนซุเอลาได้ร่วมกันลงนามในปฏิญญาสากลว่าด้วยโลมาน้ำจืด ที่เมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย โดยประเทศจีน อินโดนีเซีย เมียนมาร์ เปรู และปากีสถานยังอยู่ระหว่างการพิจารณา (Arellano, 2024)

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ในฐานะองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม  ขอร่วมสนับสนุนการฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อให้เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของโลมาน้ำจืด ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ ความร่วมมือ Mekong Think Tank การพัฒนาแนวทางกลไกความร่วมมือในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น รวมถึงการจัดการขยะและของเสียอย่างถูกต้อง เพื่อลดการปนเปื้อนของแหล่งน้ำอันเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่าง ๆ รวมทั้งโลมาน้ำจืดด้วย


เรียบเรียงโดย ญาณิศา งามสอาด ผู้ช่วยนักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
แหล่งข้อมูล
Willems, D., Walkington, D., Braulik, G., Khan, U., Frias, M., Minton, G., Hoyland, I., & Melo-Santos, G. (2021). River dolphin conservation & management; best practices from around the world. World Wide Fund for Nature (WWF) and World Bank. https://www.riverdolphins.org/wp-content/uploads/2021/07/Global-Best-Practices-in-River-dolphin-Conservation_final-version_July2021.pdf
World Wide Fund for Nature (WWF). (2023). Why a Global Declaration for River Dolphins is so critical. WWF News. https://wwf.panda.org/wwf_news/?9843416/Why-we-need-a-Global-Declaration-on-River-Dolphins
Arellano, A. (2024). Nine countries sign global pact to protect endangered river dolphins. Mongabay News. https://news.mongabay.com/2024/01/nine-countries-sign-global-pact-to-protect-endangered-river-dolphins/