12 สิงหาคม วันช้างโลก

กลุ่มงาน: ทรัพยากรทางบก

“ช้างป่า ร่มเงาใหญ่ที่สำคัญของระบบนิเวศ”

ช้างเป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและมีบทบาทสำคัญอย่างมากในระบบนิเวศ โดยช้างป่าจัดเป็นชนิดที่เป็นร่มเงา (Umbrella species) จากการที่ช้างป่าเป็นสัตว์ที่หากินในวงกว้าง เส้นทางที่ช้างเดินหากินเอื้อให้สัตว์อื่นได้ใช้ประโยชน์ร่วมด้วย นอกจากนี้ ช้างป่ายังเป็นสัตว์ที่เปิดโป่งและแหล่งน้ำซับในป่า อีกทั้งการถ่ายมูลยังช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ตามเส้นทางที่ช้างเดินผ่าน และกองมูลยังเป็นแหล่งอาหารให้กับแมลงและสัตว์หน้าดินอีกด้วย

เราสามารถพบเห็นช้างป่าหรือช้างในธรรมชาติได้ในหลายประเทศในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ปัจจุบันทั่วโลกมีสัตว์กลุ่มช้างที่ยังไม่สูญพันธุ์อยู่ทั้งหมด 3 ชนิดหรือสปีชีส์ โดยกระจายตัวอยู่ในทวีปแอฟริกา 2 ชนิด คือ ช้างแอฟริกันสะวันน่า (African savanna elephant) และช้างป่าแอฟริกัน (African forest elephant) ถูกจัดให้อยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable: VU) และในทวีปเอเชียอีก 1 ชนิด ซึ่งแบ่งเป็น 4 ชนิดย่อย คือ ช้างเอเชียแผ่นดินใหญ่ หรือ ช้างอินเดีย (Mainland or Indian elephant) ช้างศรีลังกา (Sri Lankan Elephant) ช้างสุมาตรา (Sumatran elephant) และช้างบอร์เนียว (Borneo elephant) โดยช้างสุมาตราถูกจัดให้อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered: CR) ส่วนอีก 3 ชนิดย่อยถูกจัดให้อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered: EN) ซึ่งสาเหตุหลักที่คุกคามช้างป่าทั่วโลกมาจากการถูกล่าเพื่อเอางาและการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยหรือถูกแบ่งแยกเป็นพื้นที่ขนาดเล็กจากกิจกรรมการพัฒนาต่าง ๆ ของมนุษย์

ส่วนช้างป่าที่พบในประเทศไทยเป็นชนิดช้างเอเชียและเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งจากการสำรวจของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเมื่อปี 2566 คาดว่ามีช้างป่าทั่วประเทศประมาณ 4,013-4,422 ตัว เพิ่มขึ้นจากการสำรวจในปี 2546 ที่มีประมาณ 3,000-3,500 ตัว โดยกระจายตัวอยู่ใน 16 กลุ่มป่า 93 พื้นที่อนุรักษ์ ทั้งนี้จากจำนวนช้างป่าที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีพื้นที่จำกัด ป่าอนุรักษ์บางส่วนถูกแบ่งแยกเป็นพื้นที่ขนาดเล็กจากโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ถนน เขื่อน ส่งผลต่ออาหาร น้ำ และพื้นที่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตช้างป่า อีกทั้งการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนรอบพื้นที่อนุรักษ์ ทำให้ช้างป่าบางส่วนต้องออกจากป่าและหาอาหารกินในพื้นที่เกษตรกรรมของมนุษย์ ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง (Human-Elephant Conflict: HEC) ในหลายพื้นที่ โดยในช่วงปี 2564-2566 มีสถิติช้างออกนอกป่าอนุรักษ์ รวม 37,135 ครั้ง เฉลี่ยปีละ 12,378 ครั้ง ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินและพืชเกษตรของชุมชน รวมถึงมีประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากช้างป่าจำนวนมาก

ในโอกาสวันช้างโลก (World Elephant Day) 12 สิงหาคม 2567 ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับช้างและการอนุรักษ์ช้างทั่วโลก เรียกร้องให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ช้างต้องเผชิญ เช่น การล่าเพื่อเอางา การทำลายถิ่นที่อยู่ และการค้า พร้อมทั้งการรักษาช้างป่าไว้ให้อยู่รอดเพื่อดำรงไว้ซึ่งระบบนิเวศป่าที่อุดมสมบูรณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนจะต้องร่วมมือกัน


ที่มาข้อมูล: เว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เว็บไซต์ของ human elephant voices.org