29 กรกฎาคม วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก

กลุ่มงาน: ทรัพยากรทางบก

รักษาผืนป่า หยุดล่า หยุดค้า เสือโคร่ง

เสือโคร่ง เป็นสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ เป็น Keystone species หรือชนิดพันธุ์ที่เป็นหัวใจของของระบบนิเวศ ทำหน้าที่ช่วยควบคุมประชากรสัตว์กินพืช สัตว์ผู้ล่าขนาดกลางและขนาดเล็กไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป อีกทั้งยังเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่า ป่าผืนใดที่ยังคงมีเสือโคร่ง ผืนป่านั้นยังคงอุดมสมบูรณ์
สำหรับประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 13 ประเทศ ที่ยังคงมีประชากรเสือโคร่งอาศัยอยู่ ในปี พ.ศ. 2567 นี้ มีการสำรวจพบประชากรเสือโคร่งในป่าธรรมชาติประมาณ 179-223 ตัว กระจายอยู่เฉพาะในพื้นที่อนุรักษ์ พบมากที่สุดในพื้นที่ป่าตะวันตก ด้วยผืนป่าแห่งนี้มีขนาดใหญ่และยังคงความอุดมสมบูรณ์ รองลงมา คือ ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ป่าแก่งกระจาน-กุยบุรี ป่าฮาลา-บาลา และป่าชุมพร

อย่างไรก็ตาม ประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างน่าเป็นห่วง จากการสูญเสียพื้นที่ป่าและถูกล่าโดยขบวนการค้าสัตว์ป่า เสือโคร่งจึงถูกจัดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species) ในบัญชี IUCN Red List และจัดอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ที่ห้ามทำการค้าขายโดยเด็ดขาด รวมถึงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

ในโอกาสวันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี ซึ่งถูกกำหนดขึ้นในการประชุมเสือโคร่งโลก (Tiger Summit) เมื่อปี พ.ศ. 2553 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ขอเชิญชวนมาร่วมกันอนุรักษ์เสือโคร่ง โดยการรักษาผืนป่า ร่วมกันเฝ้าระวังและต่อต้านการค้าสัตว์ป่าอันเป็นอาหารของเสือโคร่ง


เรียบเรียงโดย: ณัฐณิชา ยี่ลังกา นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
แหล่งที่มาข้อมูล: สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช  และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร