3 มีนาคม วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก หรือ World Wildlife Day

กลุ่มงาน: ความหลากหลายทางชีวภาพ

3 มีนาคม วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก หรือ World Wildlife Day
Connecting People and Planet: Exploring Digital Innovation in Wildlife Conservation
“เชื่อมโลกกว้าง ร่วมสร้างนวัตกรรม นำสู่การอนุรักษ์สัตว์ป่าและพืชป่าอย่างยั่งยืน”

 
ด้วยการพัฒนาที่ผ่านมาของมนุษย์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าและพื้นที่ธรรมชาติ ทั้งบนบกและในทะเลซึ่งเป็น “บ้าน” หรือถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าและพืชป่า ทำให้มีพื้นที่ลดลงอย่างมากและเกิดความเสื่อมโทรมจากภาวะมลพิษที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ อีกทั้งมีสัตว์ป่าหลายชนิดที่ถูกล่าและพืชป่าหลายชนิดถูกลักลอบนำออกมาจากป่าเพื่อการค้า ส่งผลให้สัตว์ป่าและพืชป่าหลายชนิดต้องสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้อย่างน่าเสียดาย

เรารู้หรือไม่ว่าสัตว์ป่าและพืชป่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ มีหลายชนิดเป็นชนิดที่เป็นแกนหลักของระบบนิเวศ (Keystone species) โดย Keystone species จะมีพฤติกรรมที่มีผลต่อสิ่งมีชีวิตแวดล้อมเพื่อควบคุมประชากรทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น หากไม่มีชนิดที่เป็นแกนหลักทำหน้าที่ล่าเพื่อควบคุมประชากรสัตว์กินพืช ทำให้ในระบบนิเวศมีสัตว์กินพืชเกินสมดุลที่ระบบต้องการทำให้พืชซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตในระบบน้อยลงไม่พอต่อความต้องการระบบนิเวศทั้งหมดจึงไม่สามารถดำรงวัฏจักรต่อไปได้และพังลงมาในที่สุด เช่น เสือ นาก ฉลาม เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีชนิดที่เป็นร่มเงา (Umbrella species) ซึ่งเป็นได้ทั้งพืชและสัตว์ เช่น ช้างป่าซึ่งเป็นสัตว์ที่หากินในวงกว้าง เส้นทางที่ช้างเดินหากินเอื้อให้สัตว์อื่นได้ใช้ประโยชน์ร่วมด้วย นอกจากนี้ ช้างป่ายังเป็นสัตว์ที่เปิดโป่งและเเหล่งน้ำซับในป่า อีกทั้งการถ่ายมูลยังช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ตามเส้นทางที่ช้างเดินผ่าน และกองมูลยังเป็นเเหล่งอาหารให้กับแมลงและสัตว์หน้าดินอีกด้วย นอกจากนี้ สัตว์ที่อาศัยอยู่บนชั้นเรือนยอดของป่า เช่น ชะนี และนกเงือก ยังจัดเป็นชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในฐานะที่มีบทบาทช่วยกระจายเมล็ดพืชในป่า อีกทั้งยังมีการดำรงชีวิตที่ต้องพึ่งพาต้นไม้ใหญ่ในป่าเป็นหลัก การคงอยู่ของชะนีและนกเงือกจึงเป็นการรับประกันว่าป่ายังสมบูรณ์ด้วยต้นไม้ใหญ่

อีกทั้ง ในแต่ละพื้นที่จะมีสัตว์ป่าและพืชป่าที่เป็น “ชนิดที่มีความโดดเด่น” หรือ “Iconic species” ที่แตกต่างกันไป ซึ่ง Iconic species จะเป็นตัวแทนที่บ่งชี้คุณลักษณะที่ดีของสถานที่และความสัมพันธ์ที่สำคัญต่อวิถีชีวิตของชุมชน การท่องเที่ยวและพักผ่อน สันทนาการทางธรรมชาติ ในทางกลับกันความชุกชุมและคุณภาพและการจัดการดูแลชนิดที่มีความโดดเด่นก็เป็นความสำคัญยิ่งต่อความเป็นอยู่ของชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่นั้น ๆ ตัวอย่างชนิดที่อาจเป็น Iconic species สำหรับประเทศไทย เช่น หิ่งห้อย นกชายเลนปากช้อน วาฬบรูด้า ปลากัดมหาชัย พลับพลึงธาร เป็นต้น

ในโอกาสวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day) ประจำปี 2567 ซึ่งได้กำหนดหัวข้อ “Connecting People and Planet: Exploring Digital Innovation in Wildlife Conservation: เชื่อมโลกกว้าง ร่วมสร้างนวัตกรรม นำสู่การอนุรักษ์สัตว์ป่าและพืชป่าอย่างยั่งยืน” เพื่อเน้นย้ำให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมการรณรงค์และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่าที่มีความสำคัญ และสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อรักษาถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าและพืชป่าเหล่านั้น เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศที่มีความสำคัญต่อชีวิตของเรา


ที่มาข้อมูล
เว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เว็บไซต์กลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เรียบเรียงโดย
ธนิรัตน์ ธนวัฒน์ ผู้จัดการโครงการอาวุโส