ขยะอาหาร ตัวการโลกร้อน...เราช่วยลดได้

กลุ่มงาน: ขยะชุมชน-ขยะอาหาร





ขยะอาหารที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน มักถูกเก็บขนไปฝังกลบรวมกับขยะอื่น ๆ ซึ่งถูกทับถมกันจนแน่น จะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ที่เติบโตในสภาพไร้ออกซิเจน (Anaerobic Digestion) ทำเกิดก๊าซมีเทน (CH4) และก๊าซอื่น ๆ 

เป็นที่ทราบกันดีว่ามีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจก ที่มีคุณสมบัติดูดซับรังสีความร้อน ทำให้อุณหภูมิชั้นบรรยากาศโลกสูงขึ้น โดยมีเทนมีศักยภาพทำให้โลกร้อนสูงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) กว่า 25 เท่า ดังนั้นหากเราจัดการขยะอาหารไม่ดี เท่ากับว่าได้มีส่วนก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้นด้วย

ขอรวบรวมแนวทางที่พวกเราจะช่วยกันลดขยะอาหารได้ในชีวิตประจำวันและกิจกรรมต่าง ๆ  โดยเฉพาะการจัดเลี้ยงรวมถึงการจัดประชุม ควรจะตั้งเป้าหมายไว้ก่อนเลยว่าคราวนี้จะต้องเป็นแบบ Zero Food Waste to Landfill แล้ววางแผนและดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้มักเป็นความร่วมมือ 3 ฝ่าย นั่นก็คือ เจ้าของงาน ธุรกิจบริหารอาหาร และผู้ร่วมงาน   

เพียงกินหมด ก็ช่วยลดโลกร้อน แนวคิดนี้ใช้ได้กับทุกโอกาส ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องฝืนกินอาหารจนอิ่มแปล้!!! แต่อยากให้มีการคิดก่อนซื้อ ก่อนลงมือทำอาหาร ตักอาหาร หรือก่อนสั่งอาหาร ให้พอดีกับที่ต้องการจะกิน ทั้งประเภทอาหารและปริมาณอาหาร แบบนี้ก็ได้ช่วยลดขยะอาหาร ซึ่งจะเป็นแหล่งเกิดก๊าซมีเทน (CH4) ที่ทำให้โลกร้อนได้


เรียบเรียงโดย คณะนักวิจัยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ด้วยความร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) 
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)