10 พฤษภาคม วันป่าชายเลนแห่งชาติ

กลุ่มงาน: ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ป่าชายเลนเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีความสำคัญ เป็นทั้งที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ช่วยปกป้องการพังทลายของชายฝั่งจากคลื่นลมทะเล รักษาสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่ง รวมถึงเป็นแหล่งอาหารสำหรับชุมชนชายฝั่งและมนุษย์เรา

ที่สำคัญ ป่าชายเลนยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนและผลิตออกซิเจนที่สำคัญ โดยสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าป่าไม้เขตหนาวหรือป่าฝนเขตร้อนชื้น ราว 3-4 เท่า เมื่อเทียบพื้นที่เท่ากันจากการแปลภาพถ่ายดาวเทียมของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกับ GISTDA แสดงให้เห็นว่าผืนป่าชายเลนประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อันเกิดจากการขยายตัวของพืชตามธรรมชาติในบริเวณตะกอนปากแม่น้ำ และความร่วมมือของชุมชน ท้องถิ่น และทุกภาคส่วนที่ช่วยกันดูแลและฟื้นฟูจนทำให้ผืนป่าชายเลนกลับคืนสภาพสมบูรณ์ในหลายพื้นที่

ด้วยความสำคัญของป่าชายเลน และสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2534 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับป่าชายเลนขึ้นเป็นครั้งแรก ส่งผลให้ทุกภาคส่วนร่วมกันอนุรักษ์ป่าชายเลนมาอย่างต่อเนื่อง คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันป่าชายเลนแห่งชาติ” เพื่อการรณรงค์และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ทุกภาคส่วนเห็นคุณค่าของป่าชายเลน และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกับการอนุรักษ์ป่าชายเลน  


เรียบเรียงโดย
พวงผกา  ขาวกระโทก
นักวิจัยอาวุโส สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย