13 มีนาคม วันช้างไทย

กลุ่มงาน: ทรัพยากรทางบก

ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง ไม่ว่าจะเป็นช้างที่อยู่อาศัยในผืนป่าใหญ่ หรือช้างทรงของพระเจ้าแผ่นดินในแต่ละยุคสมัย  ยังคงอยู่ในความทรงจำของคนไทยที่ไม่อาจลืม

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แหล่งอาหารตามธรรมชาติถูกทำลายและเสื่อมโทรมลง เกิดปัญหาการแย่งใช้พื้นที่ราบริมแหล่งน้ำแหล่งอาหาร และแหล่งหลบภัยที่สำคัญของช้าง ในฤดูฝนที่ยังมีอาหารสมบูรณ์ ช้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่เมื่อถึงฤดูแล้งอาหารและน้ำขาดแคลน ช้าง จึงต้องเข้ามาหากินผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ทำกินของชุมชนโดยรอบจึงทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้คน

ปัจจุบันช้างป่ามีจำนวนประชากรอาศัยอยู่ตามธรรมชาติประมาณ 4,013-4,422 ตัว  ในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน จำนวน 91 แห่ง (ข้อมูลวันที่ 9 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นข้อมูลที่อยู่ระหว่างการสำรวจและการประเมินประชากรช้างป่าทั่วประเทศ ปี 2566) และภายในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบางแห่ง ในแต่ละพื้นที่การกระจายสามารถพบช้างป่าได้ตั้งแต่น้อยกว่า 10 ตัว ไปจนถึง 200 – 300 ตัว

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศภาคีสมาชิกตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ  มีเป้าหมายสำคัญที่จะรักษาพื้นที่คุ้มครองหรือป่าอนุรักษ์ให้เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนั่นก็คือแหล่งอาศัยและแหล่งหากินของสัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่เป็นแกนหลักของระบบนิเวศอย่าง “ช้าง” ด้วย

เราคนไทยยังคงรำลึกถึงความสัมพันธ์ของคนกับช้าง ช้างกับธรรมชาติ และธรรมชาติกับคน ไม่ให้สูญหายตามกาลเวลา  13 มีนาคม ของทุกปีจึงถูกกำหนดให้เป็นวันอนุรักษ์ช้างไทย เพื่อคอยเตือนใจให้เราร่วมกันอนุรักษ์ช้างไทย ด้วยการปกป้องที่อยู่อาศัยของช้าง ไม่ล่า ลดความต้องการงาช้าง เพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติต่อไป


ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช