13 กุมภาพันธ์ วันรักนกเงือก

กลุ่มงาน: ความหลากหลายทางชีวภาพ

13 กุมภาพันธ์ “วันรักนกเงือก" (Love Hornbills Day)
รักนกเงือก ต้องหยุดล่า ช่วยกันรักษ์ป่าและรักษาธรรมชาติ

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เดือนแห่งวันวาเลนไทน์ (14 กุมภาพันธ์) วันแห่งความรัก อยากกล่าวถึงอีกความรักนึงของนกเงือก ซึ่งยิ่งใหญ่ไม่น้อยกว่าความรักของคนเรา “นกเงือกเป็นสัญลักษณ์แห่งรักแท้” ด้วยเมื่อนกเงือกจับคู่ผสมพันธุ์กันแล้ว จะใช้ชีวิตคู่แบบผัวเดียวเมียเดียวจนแก่เฒ่าหรือกว่าจะตายจากกัน  

นอกจากเรื่องรักแท้-รักเดียวของนกเงือกแล้ว นกเงือกยังเป็นมีคุณค่าต่อระบบนิเวศป่าไม้ ในการช่วงกระจายพันธุ์ไม้ไปสู่ระบบนิเวศป่า  จากอาหารหลักของนกเงือกที่กินเข้าไป ทั้งผลไม้สุกขนาดเล็กและขนาดใหญ่ แล้วจึงขย้อนเมล็ดออกมา นกเงือกแต่ละตัวสามารถกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ได้มากกว่า 100 ต้นต่อสัปดาห์ ซึ่งนกเงือกมีอายุยืนยาวกว่า 30 ปี “หนึ่งชีวิตของนกเงือก สามารถช่วยปลูกไม้ป่าได้ถึง 500,000 ต้น” นับว่านกเงือกเป็นผู้ปลูกป่าที่สำคัญเลยก็ว่าได้

“นกเงือกจึงเป็นตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้” เรามักจะพบนกเงือกในผืนป่าที่ค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์ ป่าที่มีต้นไม้ใหญ่เพียงพอสำหรับการทำรัง มีผลไม้ที่หลากหลายและเพียงพอตลอดทั้งปี แต่ประชากรนกเงือกในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงและมีสถานภาพเป็นที่น่ากังวล โดยเฉพาะ “นกเงือกปากย่น นกเงือกดำ นกชนหิน (สัตว์สงวนลำดับล่าสุดของประเทศไทย) ถูกจัดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง”  จากการคุกคามของมนุษย์ การทำลายแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย ทำให้ป่าเสื่อมโทรม รวมถึงการล่าเพื่อการค้าและการใช้ประโยชน์ อีกทั้งนกเงือกมีพฤติกรรมใช้ชีวิตคู่แบบผัวเดียวเมียเดียว ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างมากต่อการเพิ่มจำนวนชนิดพันธุ์และการขยายพันธุ์ของนกเงือกตามธรรมชาติ

ด้วยบทบาทสำคัญของนกเงือก แต่กลับการถูกคุกคามและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของนกเงือก มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก มหาวิทยาลัยมหิดล จึงกำหนดให้ “วันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันรักนกเงือก” เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ และสร้างความตระหนักให้กับประชาชน เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือกและการดูแลรักษาป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกเงือก ให้คงอยู่คู่กับผู้คนสืบไป


เรียบเรียงโดย คุณณัฐณิชา ยี่ลังกา นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล:
1) เว็บไซต์ มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก  
2) เว็บไซต์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
3) เว็บไซต์ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย