คุ้มครองสัตว์ป่า: ร่วมเฝ้าระวังการล่า-ค้าสัตว์ป่า และท่องเที่ยวแบบเป็นมิตรกับธรรมชาติ

กลุ่มงาน: ทรัพยากรทางบก

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา การขยายตัวของเมือง ชุมชน และพื้นที่เกษตร ได้นำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่อยู่อาศัย แหล่งกักเก็บน้ำ รวมไปถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องการความสะดวกสบาย ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ส่งกระทบต่อสภาพธรรมชาติและถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายก็ยังเป็นประเด็นที่น่ากังวล เนื่องจากมีการเปลี่ยนรูปแบบการค้าสัตว์ป่าผ่านโซเชียลมีเดียหลากหลายแพลตฟอร์มและเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการลักลอบล่า-ค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ ทำให้สัตว์ป่าบางชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

การลดลงของจำนวนและชนิดสัตว์ป่าในธรรมชาติ ย่อมส่งผลกระทบต่อความสมดุลทางธรรมชาติ ด้วยสัตว์ป่าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของระบบนิเวศ ที่ค้ำจุนความสมดุลของห่วงโซ่อาหาร จึงเป็นตัวชี้วัดที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงประโยชน์ที่มนุษย์จะได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อม

แม้ความตระหนักในการอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้สะท้อนผ่านการกำหนดให้วันที่ 26 ธันวาคม ของทุกปี เป็น ‘วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ’ หรือ National Wildlife Protection Day ขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2503 โดยมีการร่างกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าขึ้น คือ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ปัจจุบันมีฉบับล่าสุด คือ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เพื่อให้เกิดการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครอง และบำรุงรักษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า รวมทั้งเกิดการบริหารจัดการสัตว์ป่า ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน แต่สถานการณ์สัตว์ป่าในปัจจุบันก็ยังคงน่ากังวล

ใน พ.ศ. 2565 นี้ ประเทศไทยมีสัตว์ป่าสงวนตามกฎหมาย มีจำนวน 19 ชนิด ได้แก่ กระซู่ กวางผา กูปรีหรือโคไพร เก้งหม้อ ควายป่า พะยูนหรือหมูน้ำ แมวลายหินอ่อน แรด ละองหรือละมั่ง เลียงผาหรือเยืองหรือกูรำหรือโครำ วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ สมเสร็จ สมันหรือเนื้อสมัน นกกระเรียน นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร นกแต้วแล้วท้องดำ เต่ามะเฟือง และปลาฉลามวาฬ สำหรับสัตว์ป่าสงวนข้างต้น มีชนิดที่มีสถานภาพสูญพันธุ์ไปแล้วในประเทศไทย จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ กระซู่ กูปรีหรือโคไพร แรด และสมันหรือเนื้อสมัน

ส่วนสัตว์ป่าคุ้มครองในประเทศไทย มีจำนวน 1,316 ชนิด เมื่อพิจารณาจากรายงานสถานภาพชนิดพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครอง กลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลัง ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย ใน พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2563 พบว่า กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และนก มีการถูกคุกคามที่เพิ่มมากขึ้น

ทุกวันนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องช่วยกันอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ป่าและป่าไม้ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัย นอกจากภารกิจหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐแล้ว จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ในการเฝ้าระวังและแจ้งเหตุการณ์ลักลอบล่าและการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย และการท่องเที่ยวอย่างระมัดระวัง ไม่ส่งเสียงและไม่ใช้แสงสว่างในช่วงเวลากลางคืนซึ่งรบกวนและสร้างผลกระทบต่อสัตว์ป่า และไม่สร้างขยะที่อาจเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าและเป็นภาระต่อธรรมชาติ  


เรียบเรียงโดย รัตนพร เจริญชาติ ผู้ช่วยนักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
แหล่งข้อมูล
กรมป่าไม้. (2565). ข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี พ.ศ. 2565. เอกสารอัดสำเนา.
พระราชบัญญัติสงวนคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562. (2562, 24 พฤษภาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 136 ตอนที่ 71 ก. หน้า 104. [ออนไลน์].
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2563). รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการจัดทำและปรับปรุงสถานภาพชนิดพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย. เอกสารอัดสำเนา.