โครงการ PPP Plastic ร่วมกับ "วน" เดินหน้า โครงการ “มือวิเศษx วน” “ปฏิบัติการหมุนเวียนพลาสติกด้วยจุดดรอปพ้อยท์” (Circular in Action – Drop Point of Used Plastic) นำถังรับคืนไปตั้งในสถานที่ต่างๆ เพื่อเก็บถุงพลาสติกที่ใช้แล้ว จำนวน 12 ชนิด ได้แก่ ถุงหูหิ้ว ถุงช้อปปิ้ง ฟิล์มหุ้มแพ็คขวดน้ำ ฟิล์มหุ้มแพ็ค UHT ซองไปรษณีย์พลาสติก พลาสติกกันกระแทก ถุงซิปล็อคซองยา (แกะหรือตัดพลาสติกออก) ฟิล์มห่อสินค้า (ทิชชู่ ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมเด็ก) ถุงขนมปัง ถุงน้ำตาลทราย ถุงน้ำแข็ง (สะบัดให้แห้ง) และถุงผักผลไม้ เพื่อนำมารีไซเคิลอีกครั้ง
โดยในระยะแรก ได้วางจุดรับพลาสติกไปแล้ว 300 จุดทั่วกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจ.ระยอง อาทิ ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ โดยมีเป้าหมายเพิ่มเป็น 500 จุดภายใน ปี 2563 รวมทั้งขยายผลไปสู่พลาสติกชนิดอื่นๆ พัฒนาโมเดลทางธุรกิจระยะยาว เพื่อตอบรับโรดแมปของทางภาครัฐที่ตั้งเป้านำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ 100% ภายในปี 2570
“ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มอบนโยบาย BCG ขับเคลื่อนประเทศไทย เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน หลังโควิด-19 ว่า ขณะนี้รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องของการผลักดัน BCG ให้ออกมาเป็นรูปธรรม สอดรับกับ Circular Economy โดยเฉพาะ โลกหลังโควิด-19 BCG Economy Model จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจแนวใหม่ ครอบคลุม ทั่วถึงในระดับฐานราก ตอบโจทย์ความยั่งยืน
โครงการ PPP Plastics อาจจะเป็นก้าวเล็กๆ ของการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นก้าวใหญ่ของมนุษยชาติเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกหลังโควิด-19 บอกเราว่าเรายังจำเป็นที่ต้องอยู่กับพลาสติกเพียงแต่ว่าจะใช้อย่างไร นโยบายในเรื่อง BCG ซึ่งประกอบด้วย Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน อยู่ภายใต้ Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ การบริหารจัดการ ซึ่งเป็นที่มาของการมีจุดรับพลาสติก การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนหากสามารถทำให้คนใช้น้อยลง ใช้แล้วรู้จักทิ้ง หรือใช้ประโยชน์ต่ออย่างไร เปลี่ยนแปลงให้มีจิตสำนึกใน Circular Mild Set หรือ Circular Spirit ให้เกิดขึ้นและ เทคโนโลยีซึ่งพัฒนาอยู่ตลอด แต่ต้องเหมาะสมและนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการผลิต และพฤติกรรมผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการทั้งระบบ ทั้ง 4 ข้อสำคัญจะนำไปสู่การตอบโจทย์การพัฒนาสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง
สำหรับโรดแมปการจัดการพลาสติกของประเทศ พ.ศ.2561-2573 เป้าหมายหลักเพื่อลดและเลิกการใช้พลาสติก รวมถึงการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ โดยในปี 2562 ตั้งเป้าเลิกใช้พลาสติก 3 ประเภท ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ็อกโซ่ (Oxo) และ ไมโครบีดจากพลาสติก (Microbead)
ปี 2565 เลิกใช้พลาสติก 4 ประเภท โดยเฉพาะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว (Single use Plastic) ได้แก่. ถุงพลาสติกหูหิ้ว. กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) . หลอดพลาสติก ขณะที่ปี 2570 มีเป้าหมายนำขยะผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกกลับเข้ามาใช้ประโยชน์ 100%
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และประธาน PPP Plastics ระบุว่า ประเทศไทยมีขยะพลาสติกราว 2 ล้านตัน กำจัดถูกวิธี 5 แสนตัน ที่เหลืออีก 1.5 ล้านตัน ยังมีปัญหา เพราะส่วนหนึ่งถูกนำไปฝังกลบ เผา และเล็ดลอดออกสู่แหล่งน้ำ ทะเล กลายเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ที่มีปัญหาขยะพลาสติก ดังนั้น ทางโครงการ จึงร่วมกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม หาทางออกสู่การปฏิบัติ
โดยตั้งจุดรับคืนพลาสติกประเภทยืด 12 ชนิด ทิ้งในถังวน 300 จุดในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจ.ระยอง หลังจากนั้นจะมีการรวบรวม นำมาเป็นวัตถุดิบ ผลิตเมล็ดพลาสติก และนำไปทำภาชนะหรือวัสดุต่างๆ ได้ประโยชน์ 2 อย่าง คือ ลดการใช้ทรัพยากร และ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผลที่จะตามมาคือ เศรษฐกิจ และรายได้ที่จะเกิดขึ้นในชุมชน
ด้าน องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของ 40 ภาคธุรกิจของไทย ทั้งธุรกิจพลังงาน ปิโตรเคมี ผลิตไฟฟ้า ธนาคาร วัสดุก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ได้ร่วมผสานความร่วมมือในการลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ “ประเสริฐ บุญสัมพันธ์” ประธาน TBCSD และในฐานะองค์กรร่วมก่อตั้งโครงการ PPP Plastics กล่าวว่า การขับเคลื่อนแก้ปัญหาขยะดังกล่าว เพื่อไม่ให้พลาสติกเหล่านี้หลุดรอดไปสู่สิ่งแวดล้อมและไม่ไปที่หลุมฝังกลบ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมเรื่องขยะพลาสติกในทะเล และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยการนำกลับมาหมุนเวียนเพื่อทำประโยชน์ “แบบไม่รู้จบ” ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เชื่อว่าหากมี Partner มากขึ้น จะทำให้การดำเนินงานโครงการฯ ประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น
ขณะที่ เทรนด์กระแสของโลกต่อไป จะไม่ใช่การผลิตสินค้าที่ถูกที่สุด แต่สิ่งสำคัญคือต้องห่วงใยสิ่งแวดล้อม ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ไม่ให้เป็นปัญหา “เกรียงไกร เธียรนุกุล” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อธิบายว่า ธุรกิจต้องไม่ใช่ได้กำไร แต่สร้างปัญหาต่อสังคม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สภาอุตสาหกรรมให้ความสำคัญมาก ในอนาคตอันใกล้ จะมีโครงการของสภาอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะในส่วนของสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน รวมถึงพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ร่วมทำงานอีกมิติหนึ่ง โดยเชิญชวนให้สภาอุตสาหกรรมทั่วประเทศร่วมรณรงค์ สิ่งเหล่านี้จะสำเร็จต้องเกิดจากความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาคประชาชน สังคม การผลิต และภาครัฐให้การสนับสนุน
“อดิศร นุชดำรงค์” รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมว่า สิ่งสำคัญคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในการใช้ รณรงค์กำจัดขยะพลาสติก การคัดแยก หากสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนในการคัดแยกขยะในครัวเรือนได้ และนำมาใส่จุดทิ้งขยะที่เตรียมไว้ จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ขยายตัวไปเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนไม่ใช่เรื่องง่าย มีอุปสรรคแน่นอน ประชาชนเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหา
“พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย แต่มนุษย์ทำให้เกิดปัญหา เพราะเราใช้ทรัพยากรโดยไม่ควบคุม ไม่คิดถึงผลกระทบ ความสะดวกสบายนานวันจะปรับเปลี่ยนยาก ดังนั้น ควรลดความสะดวกสบายของเราลง และร่วมมือกับทางภาครัฐและเอกชน ลดปริมาณขยะจากต้นทางให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ ลดแล้วก็ต้องคัดแยกให้ดี การนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่สามารถทำได้ง่าย เทคโนโลยีไปไกล ปัญหาอยู่ที่จะทำอย่างไรให้เปลี่ยนพฤติกรรมเท่านั้นเอง” รองปลัด ทส. กล่าว
ปี 2570 รัฐบาลมีเป้าหมายในการนำพลาสติกมารีไซเคิลให้ได้ 100% นำมาสู่การขับเคลื่อนโรดแมปการจัดการพลาสติกของประเทศ พ.ศ.2561-2573 ซึ่งโครงการ PPP Plastics ถือเป็นหนึ่งส่วนสำคัญที่รวมทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมกันบริหารจัดการ สร้างนวัตกรรม และโมเดลธุรกิจ ตั้งจุดรับพลาสติก 12 ชนิด 300 จุด นำไปรีไซเคิล เพื่อให้เกิดการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนตามโรดแมปที่ได้ตั้งเป้าไว้
โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืนหรือ PPP Plastics ก่อตั้งขึ้นในเดือนมิถุนายน 2561 ภายใต้การนำของ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) และ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) มุ่งเน้นนโยบายสำคัญ 4 ด้าน
อาทิ การคัดแยกและจัดเก็บขยะอย่างมีประสิทธิ การสร้างเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม และโมเดลทางธุรกิจในการนำขยะกลับเข้าสู่ระบบหรือกลับมาใช้ใหม่ การสื่อสารและการศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน และการมุ่งเน้นการพัฒนาฐานข้อมูลการบริหารจัดการขยะพลาสติกและการสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน สนับสนุนโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ
ตลอดระยะวเลา 2 ปีที่ผ่านมา โครงการ PPP Plastics ได้พัฒนาโรดแมปฯ ร่วมกับภาครัฐ จัดทำฐานข้อมูลพลาสติก (Plastic Material Flow Database) เพื่อใช้เป็นแนวทางการแก้ปัญหาและวัดประสิทธิผลการทำงาน ทั้งนี้ ในปี 2562 โครงการได้ขยายพื้นที่สำรวจจาก 9 แห่ง เป็น 22 แห่ง และเพิ่มชนิดพลาสติกที่สำรวจเพื่อให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาโมเดลการจัดเก็บ คัดแยก ตั้งแต่ต้นทาง ในระดับชุมชน และจังหวัด
โดยผลักดันพื้นที่นำร่องให้เป็นตัวอย่างในการจัดการขยะพลาสติกทั้งในเขตคลองเตย กทม. และ จ.ระยอง โดยร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง จัดทำโมเดลจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง สำหรับ จ.ระยอง โครงการสามารถนำขยะพลาสติกมารีไซเคิลเพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนกิโลกรัม นอกจากนี้ โครงการ PPP Plastics ยังได้ร่วมกับภาครัฐ ในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ พัฒนาองค์ความรู้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมให้คนไทย มีค่านิยมและความเข้าใจที่ถูกต้อง ในการคัดแยก และใช้ประโยชน์จากขยะ เปลี่ยนขยะให้เป็นทรัพยากร สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
Share: