การเสริมสร้างความเท่าเทียมและความหลากหลายในการใช้ประโยชน์จากแหล่งเก็บน้ำ

23-25 กรกฎาคม 2567 ดร. จีรนุช ศักดิ์คำดวง ผู้เชียวชาญ เป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ Integration of Gender Equality and Social Inclusion (GEDSI) for water storage management ในการประชุมเปิดตัวโครงการ Solutions and Opportunities in managing water Storage to reduce transboundary water-related disaster risks and to address multiple water demands หรือ SOS ซึ่งจัดขึ้นโดยภาคีที่ร่วมดำเนินโครงการ ได้แก่ สถาบันสิ่งแวดล้อมสต็อคโฮล์ม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ประเทศลาว และสหพันธ์แม่ญิงลาว  ณ โรงแรมมาเจสติก จังหวัดสกลนคร

GEDSI (Gender Equality, Disability, and Social Inclusion) หมายถึง การให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ ความทุพพลภาพ และการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มคนในสังคมอย่างเท่าเทียม เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนจะได้รับโอกาสและการเข้าถึงทรัพยากรและบริการที่จำเป็นโดยไม่มีการกีดกันหรือการเลือกปฏิบัติ ในบริบทของการจัดการแหล่งเก็บน้ำ GEDSI จะช่วยให้ประชาชนทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นหญิง ชาย ผู้ทุพพลภาพ หรือกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ สามารถเข้าถึงทรัพยากรน้ำ รวมทั้งมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำ และมีสิทธิ์ออกแบบและการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานสำหรับทรัพยากรน้ำได้อย่างเท่าเทียม

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำโครงการ SOS รวมถึงวัตถุประสงค์ ขอบเขต กิจกรรม ผลลัพธ์และผลลัพธ์ที่คาดหวัง และแผนการดำเนินงาน และเพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าใจลำดับความสำคัญของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการกักเก็บน้ำในพื้นที่ รวมทั้งความเข้าใจที่ครอบคลุมเกี่ยวกับเพศ ความเท่าเทียมกัน ความทุพพลภาพ ที่เชื่อมโยงกับการจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำ โดยในงานมีผู้แทนจากหลายภาคส่วนจากประเทศไทยและประเทศลาว อาทิ ผู้กำหนดนโยบาย เจ้าหน้าที่รัฐบาล (ภาคส่วนด้านน้ำ พลังงาน และการเกษตรในระดับจังหวัดและระดับประเทศ) สถาบันการศึกษา/นักวิจัย ตัวแทนชุมชนท้องถิ่น ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมท้องถิ่น สหภาพ/สมาคมคนพิการและสตรี และตัวแทนสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน