Food Waste ปัญหาใหญ่ที่ซ่อนในศูนย์อาหาร

ศูนย์อาหารถือเป็นสวรรค์ของนักกิน เพราะเป็นแหล่งรวมอาหารนานาประเภท บางแห่งมีร้านดัง สะดวกสบายเพราะจัดพื้นที่ให้นั่งรับประทาน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก มีเมนูอร่อย จานด่วน ราคาสบายกระเป๋า ทำให้เป็นแหล่งรวมร้านอาหารและผู้บริโภคจำนวนมาก  สิ่งที่ตามมาทั้งศูนย์อาหาร โรงอาหาร แคนทีน  ฟู้ดคอร์ท กลายเป็นตัวการสำคัญสร้างขยะอาหาร (Food Waste) จำนวนมหาศาลในแต่ละวัน และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

คนไทยหนึ่งคนสร้างขยะอาหารถึง 146 กิโลกรัมต่อปี ปัจจุบันไทยมีปริมาณขยะอาหารเกิดขึ้นประมาณ 9.7 ล้านตันต่อปี ขณะนี้ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน  UN กำหนดให้การลดขยะอาหารเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เมื่อปี 2558 กำหนดเป้าลดขยะอาหารในระดับค้าปลีกและบริโภคทั่วโลกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 สำหรับประเทศไทยพบว่า ตลาดสดมีการทิ้งของขยะอาหารสูงสุด รองลงมา ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ และอาคารสำนักงาน ซึ่งสถานที่ที่กล่าวมามีศูนย์อาหารอยู่ด้วย

ขยะอาหารจากแหล่งกำเนิดศูนย์อาหาร เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ควรมองข้าม ต้องส่งเสริมให้เกิดการลด  ป้องกัน  และนำขยะอาหารที่เกิดขึ้นไปกำจัดอย่างเหมาะสม ซึ่งไม่ใช่การทิ้งไปอย่างสูญเปล่า  นำมาสู่การผนึกความร่วมมือระหว่างสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI)  กรมควบคุมมลพิษ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมอนามัย กรุงเทพมหานคร  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์อาหารในหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและสถานศึกษา  14 แห่ง แสดงเจตจำนงร่วมส่งเสริมการป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารในเมืองใหญ่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง   ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียทรัพยากร ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก


ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การสูญเสียอาหารเป็นปัญหาสำคัญของโลก รวมถึงไทย ทั้งผลิตอาหารไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน  อีกส่วนจากการบริโภคไม่ทันหรือไม่หมด  ทำให้ต้องทิ้งกลายเป็นขยะอาหาร  จากข้อมูลองค์ประกอบขยะมูลฝอย พบว่า  ร้อยละ 38 เป็นขยะอาหารที่ถูกทิ้งรวมกับขยะทั่วไป คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักการลดการเกิดขยะอาหาร คัดแยก และจัดการขยะอาหารตั้งแต่ต้นทาง  รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังไม่มีการวางระบบคัดแยกและเก็บขนขยะมูลฝอยแบบแยกประเภท เกิดปัญหาต่อขยะที่จะนำกลับไปใช้ประโยชน์และการกำจัดที่ปลายทาง มีกลิ่นเหม็น  แมลงวัน สัตว์รบกวน  รวมถึงเกิดก๊าซเรือนกระจก

อธิบดี คพ. กล่าวต่อว่า ไทยเป็นประเทศสมาชิก UN ต้องทำตามเป้า SDGs ลดขยะอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค ล่าสุด วันที่ 11 ม.ค. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ  และประธานคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ เห็นชอบแผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (พ.ศ. 2566 – 2573) และแผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อเป็นทิศทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอาหารของประเทศ เน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันและลดขยะอาหาร จัดระบบคัดแยกขยะอาหาร ณ แหล่งกำเนิด จัดระบบกำจัดขยะอาหาร ณ สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย สนับสนุนและผลักดันให้ประชาชนคัดแยกขยะอาหารออกจากขยะทั่วไป และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบคัดแยกและเก็บขนขยะแบบแยกประเภท

“ ศูนย์อาหารเป็นแหล่งเกิดขยะอาหารที่สำคัญต้องให้ความสำคัญในการวางแผนเพื่อบริหารจัดการขยะอาหารตั้งแต่ต้นทางอย่างเหมาะสม เพราะมีผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่เจ้าของศูนย์อาหาร ร้านค้าที่เช่าพื้นที่ ลูกค้าที่มาซื้ออาหาร ความร่วมมือนี้ TEI ศึกษาภายใต้โครงการส่งเสริมการป้องกัน ลด และจัดการขยะอาหารจากแหล่งกำเนิดศูนย์อาหาร เป็นส่วนสำคัญเคลื่อนแผนปฏิบัติการขยะอาหารระยะ 1  มาตรการที่ 1  การป้องกันและลดการเกิดขยะอาหาร  จัดทำองค์ความรู้และประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องในภาคผู้ประกอบการอาหาร “  ปรีญาพร กล่าว

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า  เมนูอาหารแต่ละจานที่ผลิตขึ้นทำลายความหลากหลายทางชีวภาพตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่การขนส่งใช้พลังงาน สร้างขยะในครัวเรือน ตลาด   ศูนย์อาหาร หากบริโภคไม่หมดเป็นของเสีย ถูกเก็บขนไปฝังกลบรวมกับขยะอื่นๆ ทับถมจนเกิดก๊าซมีเทนตัวการก่อภาวะเรือนกระจก ไทยต้องสร้างระบบจัดการขยะอาหารที่เหมาะสม

สถานการณ์ขยะอาหารในศูนย์อาหารจะรุนแรงน้อยลง ดร.วิจารย์ย้ำต้องมีความร่วมมือสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วยสนับสนุนให้ศูนย์อาหารและหน่วยงานต่าง ๆ มีข้อมูลและกำหนดเป้าหมายลดปริมาณขยะอาหารและอาหารส่วนเกินด้วยระบบคัดแยกและรวบรวมให้เอื้อต่อการนำไปใช้ประโยชน์และกำจัดอย่างเหมาะสม ,ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมป้องกันและลดการเกิดขยะอาหาร ,ส่งเสริมองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี สำหรับผู้ประกอบอาหารและผู้จำหน่ายอาหารในการป้องกัน ลด คัดแยก และจัดการขยะอาหาร ,พัฒนาและขยายผลรูปแบบที่เหมาะสมและแนวปฏิบัติที่ดีในการป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารจากศูนย์อาหาร และจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกินที่แหล่งกำเนิด ตลอดจนขับเคลื่อนแผนจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกินด้วยกลไกข้อมูล กฎระเบียบ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและกว้างขวาง โดย TEI  หนุนการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจัดการขยะอาหารอย่างเป็นระบบ

ประเด็นแนวทางการจัดการขยะอาหารจากศูนย์อาหารขนาดกลางและขนาดใหญ่นั้น    ณัฐณิชา ยี่ลังกา นักวิจัยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า  ขยะในศูนย์อาหาร มีทั้งขยะจากครัว ที่มีทั้งเศษพลาสติก เศษผัก ขยะอื่นๆ ไม่มีเวลาแยกทิ้งรวมๆ กัน  ขยะอาหารจากในครัวและในจานเยอะพอกัน  ส่วนใหญ่รวบรวมขยะอาหารไปเป็นอาหารสัตว์ แต่ก็มีข้อจำกัดของผู้ที่มารับเอาไป   มีตัวอย่างการศึกษาปริมาณและองค์ประกอบขยะอาหารที่ศูนย์อาหารศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ  พบว่า กินได้ 80% กินไม่ได้ 20%  ส่วนใหญ่เป็นคาร์โบไฮเดรต


ที่มา ไทยโพสต์