คุณค่าของเกาะและความเปราะบาง

เมื่อพูดถึงเกาะ บางคนคิดถึงหาดทรายสีขาว น้ำทะเลใส ๆ ธรรมชาติ และวันหยุดที่จะได้ไปเที่ยวเกาะ แต่ทุกวันนี้เกาะนับล้านเกาะที่อยู่ในทะเลและมหาสมุทร กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
 
เกาะเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
 
นักวิทยาศาสตร์แบ่งเกาะออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มแรกเป็นเกาะที่อยู่ตามไหล่ทวีปไม่ไกลจากผืนแผ่นดินใหญ่มากนัก กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก ไม่ว่าเกาะภูเก็ต เกาะไต้หวัน หรือเกาะต่าง ๆ ที่รู้จักกันทั่วไป และกลุ่มที่สองเป็นเกาะที่อยู่ในบริเวณมหาสมุทร ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้น้ำ ยกตัวอย่างเกาะฮาวาย
 
สำหรับเกาะในประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มแรก โดยฐานข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แสดงไว้ว่ามีอยู่จำนวน 936 เกาะ ในฝั่งอ่าวไทย 374 เกาะ และในฝั่งทะเลอันดามัน 562 เกาะ ส่วนใหญ่เป็นเกาะขนาดเล็ก พื้นที่น้อยกว่า 10 ตารางกิโลเมตร มีเกาะขนาดกลาง 28 เกาะ ส่วนเกาะขนาดใหญ่พื้นที่มากกว่า 100 ตารางกิโลเมตร มี 6 เกาะ ได้แก่ เกาะภูเก็ต เกาะสมุย เกาะช้าง เกาะตะรุเตา เกาะพงัน และเกาะกูด


 
คุณค่าทางระบบนิเวศของเกาะ
 
เกาะส่วนใหญ่เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถพบชนิดพันธุ์พืชและสัตว์หายาก บางเกาะที่แยกตัวออกจากแผ่นดินนาน ๆ ก็จะมีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะถิ่น
 
ตามรายงานสถานภาพความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ หมู่เกาะสุรินทร์ มีนกหลากหลายชนิดและพบนกชาปีไหนซึ่งเป็นนกหายาก เกาะแสมสาร พบกล้วยไม้นารีช่ออ่างทองซึ่งเป็นพืชเฉพาะถิ่น และยังเป็นถิ่นที่อยู่ของนกเงือก นกออก นกลุมพูขาว ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์ เกาะช้าง เป็นแหล่งนกประจำถิ่น นกอพยพ พบกบเกาะช้างซึ่งเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น  ส่วนบริเวณรอบเกาะลิบง มีแหล่งหญ้าทะเลและเป็นถิ่นที่อยู่ของพะยูน
 
เกาะบางแห่งเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเลซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายาก ที่มักเลือกวางไข่บริเวณชายหาดที่สงบเงียบและปลอดภัย เช่น เกาะกระ เกาะคราม เกาะสุรินทร์ เกาะภูเก็ต เกาะคอเขา เป็นต้น จึงต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยความระมัดระวัง



แน่นอนว่า หลายเกาะมีสภาพทางธรรมชาติที่สวยงาม มีแนวปะการังที่สีสันและรูปร่างแปลกตา จึงเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติและการดำน้ำ เช่น เกาะช้าง เกาะทะลุ เกาะเต่า เกาะสิมิลัน เกาะสุรินทร์ เกาะพีพี เกาะลันตา เป็นต้น
 
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังคุกคามเกาะ
 
เกาะถูกจัดเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด จากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศ อุณหภูมิน้ำทะเล ปริมาณน้ำฝน ความรุนแรงของพายุ และระดับน้ำทะเล  โดยบทความของ Varen ระบุว่าเกาะที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพบได้ในทุกละติจูด เช่น ในออสเตรเลีย อินโดนีเซีย แคริบเบียน ประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นต้น
 
หากดูปัจจัยระดับน้ำทะเลสูงขึ้นขององค์การ NASA รายงานระดับน้ำทะเลทั่วโลกมีค่าสูงขึ้นเฉลี่ย 3.4 มิลลิเมตรต่อปี ในช่วงปี พ.ศ. 2536-2564 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ย่อมส่งผลกระทบต่อเกาะต่าง ๆ ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของบ้านเรือน กระทบต่อการประมง และการท่องเที่ยวชายฝั่งแล้ว ยังสร้างการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์น้ำ นกทะเล เต่าทะเล และระบบนิเวศแนวปะการัง ที่เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในหลายพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ
 
อย่างหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งเป็นประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ มีรายงานจาก New Scientist ว่ามีเกาะหายไป 6 เกาะหายไป ระหว่างปี พ.ศ. 2500–2557 เนื่องจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่อีก 6 เกาะหดตัว 20-62%  บางเกาะบ้านเรือนถูกคลื่นพัดลงทะเล



ความตื่นตัวของบรรดาหมู่เกาะ
 
บรรดาผู้นำประเทศหมู่เกาะต่าง ๆ ตื่นตัวในเรื่องนี้ โดยได้ขึ้นกล่าวในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 (COP27) เมื่อปี 2566 เกี่ยวกับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศต่อประเทศที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็กกำลังเผชิญ  เรียกร้องให้ผู้นำโลกร่วมตระหนักและลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะสาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น ไม่สามารถรับมือได้ด้วยประเทศใด ๆ เพียงลำพัง
 
จากแนวโน้มของการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้บางประเทศมีการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด นอกจากมีองค์การ NOAA และ NASA ของสหรัฐอเมริกาแล้ว ประเทศสิงคโปร์ได้มีการจัดตั้ง Centre for Climate Research Singapore (CCRS) เพื่อศึกษารายละเอียดว่าประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างไร และกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบและการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น
 
สำหรับประเทศไทยเรายังไม่มีข้อมูลที่จะสามารถสะท้อนสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลได้ชัดเจน ซึ่งต้องเก็บข้อมูลต่อไป ควรเร่งลงทุนในการพัฒนาสถานีตรวจวัดระดับน้ำทะเลของหน่วยงานต่าง ๆ ให้เป็นระบบสากลและเป็นเอกภาพ ขณะที่เกาะต่าง ๆ สามารถเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่อย่างง่ายควบคู่กันไป
เรียบเรียงโดย ธนิรัตน์ ธนวัฒน์ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
  • กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. 2567. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
  • สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย. 2566. 12 เกาะ 12 แนวปฏิบัติที่ดี
  • สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2563. รายงานสถานภาพความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย
  • New Scientist Website
  • NOAA: National Oceanic and Atmospheric Administration Website
  • Veron, S., et al. 2019. Vulnerability to climate change of islands worldwide and its impact on the tree of life. Sci Rep 9, 14471.
  • UN World Oceans Day 2024 Website

ขอบคุณข้อมูลจาก: TEI

เรียบเรียงโดย:

ธนิรัตน์ ธนวัฒน์

นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

บทความเกี่ยวข้อง: