วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) เป็นวันที่ได้รับการประกาศจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ในวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี สืบเนื่องมาจากโลกของเราเกิดวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง เพื่อให้เกิดความร่วมมือ เกิดความตะหนัก และรู้ทันเหตุการณ์ จึงได้มีการจัดประชุมใหญ่ระดับโลกขึ้นที่ กรุงสตอกโฮลม์ ประเทศสวีเดน ในช่วงวันที่ 5-16 มิถุนายน พ.ศ. 2515 เป็นการประชุมวาระโลกเรื่อง “มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม” ซึ่งนับเป็นการหารือด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือระหว่างชาติทั่วโลก จึงมีการกำหนดให้วันแรกของการประชุม ซึ่งก็คือวันที่ 5 มิถุนายน เป็น "วันสิ่งแวดล้อมโลก" โดยทาง UN จะกำหนดหัวข้อ (Theme) ในแต่ละปีแตกต่างกันและกำหนดประเทศเจ้าภาพในการดำเนินกิจกรรม
โดยธีมในปีนี้ คือ การฟื้นฟูดิน การแปรสภาพเป็นทะเลทรายและ การรับมือกับภัยแล้ง “Land restoration, desertification and drought resilience” และมีคำขวัญ “Our land, Our Future. We are#GenerationRestoration” “พลิกฟื้นผืนดิน สู้วิกฤติภัยแล้ง” โดยมีประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นเจ้าภาพ ตามที่ได้มีการประชุมและวิเคราะห์สถานการณ์โลกในอนาคต พบว่าปัญหาสำคัญของโลกอันดับหนึ่งที่ตรงกันในทุกสาขา คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทั้งในวงการเศรษฐกิจและสังคมโลก ธีมในปีนี้จึงเป็นเรื่องท้าทายที่เชื่อมโยงกันระหว่างความเสื่อมโทรมของทีดินที่จะต้องได้รับการฟื้นฟู ความแห้งแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่องก็จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปรสภาพที่ดินเป็นทะเลทรายได้ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพและความเป็นอยู่ของมนุษย์ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการป้องกันและแก้ไข
การกลายสภาพเป็นทะเลทราย (Desertification) คือ สภาวะเสื่อมโทรมของดินในพื้นที่แห้งแล้ง จากปัจจัยทางสภาพแวดล้อมต่าง ๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และผลจากการกระทำของมนุษย์ นอกจากนี้ การกลายสภาพเป็นทะเลทรายยังหมายถึงสภาวะแวดล้อมของพื้นที่ซึ่งสูญเสียความชุ่มชื้นเพราะการขาดน้ำเป็นเวลานาน จนส่งผลให้ดินเกิดการแตกระแหง เสื่อมสภาพลง และเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรของสภาพภูมิอากาศโดยรอบและความหลากหลายของพืชพรรณต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้เรียบเรียงข้อมูลถึง ปัจจัยที่นำไปสู่ภาวการณ์กลายสภาพเป็นทะเลทราย ประกอบด้วย
องค์การสหประชาชาติ รายงานว่าประชาชนกว่า 2 พันล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง มีแนวโน้มกลายเป็นทะเลทราย ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ แอฟริกา เอเชียตะวันออก และเอเชียกลาง โดยกว่า 15.5% ของที่ดินของโลกได้เสื่อมโทรมไปแล้ว และเพิ่มขึ้น 4% ในรอบหลายปี โดยในพื้นที่ที่เสื่อมโทรมก็มีโอกาสแปรสภาพเป็นทะเลทรายสูง ทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้จึงได้ก่อตั้งอนุสัญญาขึ้น ภายใต้กรอบUN คืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการเป็นทะเลทราย (United Nations Convention to Combat Desertification (UNCCD)) เพื่อเป็นกรอบข้อตกลงทางกฎหมาย ในการจัดการการแปรสภาพเป็นทะเลทรายและผลกระทบจากภัยแล้ง โดยมีสมาชิก 197 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย โดยจะมีการประชุม Conference of the Parties (COP16) ครั้งต่อไป ของอนุสัญญาที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย ในต้นเดือนธันวาคม 2567 นี้
นอกจากนี้ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ยังเรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนในปัจจุบันยังส่งผลและเร่งให้หลายพื้นที่ทั่วโลกเข้าสู่การกลายสภาพเป็นทะเลทรายรวดเร็วยิ่งขึ้น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเพียง 1.5-2.0 องศาเซลเซียส จะสามารถนำไปสู่การสูญเสียน้ำและภาวะแห้งแล้งมากถึงร้อยละ 30 ของพื้นที่ผิวโลกทั้งหมด และเมื่อพื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นทะเลทรายความสามารถของดินในการสร้างผลผลิตและอาหาร เพื่อรองรับประชากรมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆก็จะไม่เพียงพอ การป้องกันและแก้สามารถดำเนินการได้ด้วย
สำหรับโอกาสการกลายเป็นทะเลทรายในประเทศไทยนั้น กรมพัฒนาที่ดินได้ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการศึกษาวิเคราะห์ และการประเมินจากความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรที่เกษตรกรจะได้รับ พบว่าในประเทศไทย มีพื้นที่ที่มีความเสี่ยงรุนแรงต่อภาวะการเป็นทะเลทรายกว่า 6.9 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของพื้นที่ ทั้งประเทศ แบ่งออกเป็นพื้นที่ราบ 2.4 ล้านไร่ และพื้นที่สูง 4.5 ล้านไร่ ดังนั้นประเทศไทยจะต้องเข้าใจเพื่อนำไปสู่การป้องกันไว้ล่วงหน้า และการเผยแพร่ข้อมูลเชิงพื้นที่มาใช้เพื่อเตือนภัยจะสามารถ ลดระดับความรุนแรงของพื้นที่เสี่ยงภัยต่อภาวะการเป็นทะเลทรายลงได้ โดยเฉพาะการบุกรุกพื้นที่ป่าหรือพื้นที่แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยว การเผาป่า เป็นต้น
ความร่วมมือเพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะต้องพัฒนาเครือมือและทรัพยากรในการรักษาและฟื้นฟูที่ดิน เพื่อต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย และการปรับตัวต่อภัยแล้ง การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อ้างอิง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย. 2021. การเกิดขึ้นของ ทะเลทราย ผลกระทบสำคัญจากความแปรปรวนของวัฏจักรน้ำ และ ภาวะโลกร้อน. NATIONAL GEOGRAPHIC (https://ngthai.com/)
ทะเลทราย การแปรสภาพเป็นทะเลทราย: คืออะไร สาเหตุ ผลที่ตามมา และแนวทางแก้ไข | Renovables Verdes (https://www.renovablesverdes.com/)
ยุทธศาสตร์ อนุรักติพันธ์. 2560. แบบจจำลองเชิงพื้นที่การเป็นทะเลทรายของประเทศไทย. กรมพัฒนาที่ดิน
ขอบคุณข้อมูลจาก: สำนักข่าวพลังปวงชน(อินนิวส์ ออนไลน์)
Share: