Green Chongqing – การพัฒนานครฉงชิ่งสู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม



นครฉงชิ่ง (Chongqing) เป็นเมืองเศรษฐกิจทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เนื้อที่ราว 82,400 ตร.กม. ขนาดเกือบเท่ากับภาคกลางของประเทศไทย มีประชากรกว่า 32 ล้านคน สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบสูง มีพื้นที่ราบบริเวณหุบเขาและตามแนวแม่น้ำเพียง 2% และมีแม่น้ำแยงซีเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านเมืองนี้

ฉงชิ่งถูกพัฒนาขึ้นตามนโยบายลดความเลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่บริเวณชายฝั่งอย่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้กับพื้นที่อื่น ๆ ของจีน โดยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว นครแห่งนี้ประสบปัญหามลพิษทางอากาศอย่างมาก ส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรม การเผาไหม้ถ่านหิน และเชื้อเพลิงชีวภาพ ทำให้รัฐบาลเร่งออกนโยบายทุกทางเพื่อแก้ปัญหา ที่รู้จักกันก็คือ สงครามปกป้องท้องฟ้าสีคราม (Blue sky defense battle) รวมถึงนโยบายการส่งเสริมพลังงานสะอาด

ฉงชิ่งมีชื่อเสียงว่าเป็นต้นตำรับอาหารหมาล่า และมีร้าน “Hotpot-หม้อไฟหมาล่า” ที่กินเนสส์บุ๊คได้บันทึกไว้ว่าเป็นร้านที่ใหญ่ที่สุด รองรับลูกค้าได้เกือบ 6 พันคน


 
10 เรื่องราว Green Chongqing ที่น่าสนใจ มีดังนี้
  1. ภูมิทัศน์สวยงาม ต้นไม้ใหญ่ และพื้นที่สีเขียวสองข้างถนนถูกจัดการเป็นอย่างดี สัมผัสได้ตั้งแต่ออกเดินทางจากสนามบินเจียงเป่ย (Jiangbei) ไปตลอดทาง
  2. บทบาทองค์กรทางสังคม (Social organizations) ซึ่งเป็นคำที่จีนใช้เรียกองค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGO ได้เข้ามามีส่วนช่วยเฝ้าระวังมลพิษ และทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนมากขึ้น รวมทั้งกระตุ้นเยาวชนและสังคมให้เรียนรู้และปกป้องธรรมชาติ เช่น กรณีศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติ การอนุรักษ์นกอินทรีย์
  3. ขยายชุมชนเกษตรอินทรีย์ โดยนำองค์ความรู้สมัยใหม่เข้ามาใช้ในการทำเกษตร มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในเขตชนบท สร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น โดยได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ อย่างกรณีเมืองดาชู (Dashu Town)​ 
  4. ป้ายทะเบียนรถยนต์แยก 2 สี ชัดเจน ให้เข้าใจว่าป้ายทะเบียนสีเขียวคือรถยนต์พลังงานไฟ้ฟ้า หรือ EV (Electricity vehicle) ซึ่งมีประมาณ 20% ในเมืองนี้และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ส่วนป้ายทะเบียนสีน้ำเงินคือรถที่ใช้เชื้อเพลิงแบบเดิม
  5. พัฒนาเทคโนโลยีระบบชาร์ตและขยายจุด/สถานีชาร์ตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ EV ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในเขตเมือง แม้ยังมีจำกัดในเขตพื้นที่ชนบท
  6. มีสถานีสลับแบตเตอรี่สำหรับรถแท็กซี่ EV ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที น่าตื่นเต้นมากสำหรับยุคนี้ (ต่อไปน่าจะขยายเพิ่มและพบเห็นได้ทั่วไป)
  7. เกิดธุรกิจสตาร์อัพใหม่ ๆ ด้านธุรกิจพลังงานสะอาด โดยการสนับสนุนจากรัฐบาล บางบริษัทเพิ่งก่อตั้งได้ 4-5 ปี สามารถขยายงานได้แบบก้าวกระโดด
  8. บริษัทเอกชนที่ผลิตอุปกรณ์ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ มีโปรแกรมให้บริการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การขออนุญาตติดตั้ง การติดตั้ง ระบบการติดตาม บริการทำความสะอาดแผงโซลาร์ แต่ยังขาดเรื่องการกำจัดซากอุปกรณ์หลังใช้งาน
  9. พัฒนาระบบเก็บพลังงาน (Energy storage) ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในระดับอุตสาหกรรม ครัวเรือน และเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานนอกสถานที่ เช่น การแคมปิ้ง  
  10. ความร่วมมือวิจัยด้านพลังงาน เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของนักวิชาการ ช่วยขับเคลื่อนการลงทุนของภาคเอกชน เช่นที่ Chongqing University มีงานวิจัยเกี่ยวกับพลังงานสะอาด การรีไซเคิลวัสดุ พลังงานจากขยะ 

 
แม้ปัจจุบันแหล่งพลังงานของจีนยังคงมาจากถ่านหินกว่า 50% แต่ได้มีความพยายามส่งเสริมพลังงานสะอาด ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2060 ด้วย โดยเร่งมาตรการที่เป็นรูปธรรมส่งเสริมภาคเอกชนปรับตัวด้านธุรกิจพลังงานเป็นอย่างมาก หากเปรียบกับประเทศไทยที่ตั้งเป้าจะบรรลุเป้าหมายนี้ภายในปี 2030 ก่อนจีน แต่มาตรการด้านพลังงานสะอาดยังมีน้อย

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ฉงชิ่งเร่งพัฒนาด้านพลังงานสะอาด แต่ยังคงมีการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ซึ่งสังคมคนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด มีการพัฒนาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะการประดับไฟตามอาคาร ทำให้เกิดการบริโภคและการใช้พลังงานสูงขึ้นเช่นกัน

ความก้าวหน้าในการพัฒนาด้านพลังงานสะอาดของฉงชิ่ง ภาคเอกชนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นเพราะนโยบายและมาตรการจากรัฐบาล น่าเสียดายที่ยังไม่มีรายละเอียดเรื่องนี้มากนัก ขณะที่นักวิชาการจีนให้ข้อมูลว่ารัฐบาลจีนจะยังคงให้ความสำคัญกับการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานฟอสซิลต่อไป !!!  เพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศเอาไว้
* ข้อมูลจากการเข้าร่วมประชุมและศึกษาดูงาน Energy Transition and Green Chongqing ระหว่าง 8-12 เมษายน 2567 โดยความร่วมมือของสมาคมด้านพลังงานของเมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน

ขอบคุณข้อมูลจาก: TEI

เรียบเรียงโดย:

เบญจมาส โชติทอง

นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย 

Tags:
บทความเกี่ยวข้อง: