คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คืออะไร

ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุม/สัมมนาในหลาย ๆ เวที ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และ ประธานองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) จะมีคำถามจากที่ประชุมตลอดว่า “คาร์บอนเครดิต คืออะไร” “จะขายได้ที่ไหน?” หรือ “ราคาเป็นอย่างไร และตลาดคาร์บอนอยู่ที่ไหนกัน” ก็ขอเล่าสรุปเป็นเรื่อง ๆ ดังต่อไปนี้

“คาร์บอนเครดิต” หมายถึง สิทธิที่เกิดจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ คาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่สิ่งแวดล้อม (ปกติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ จะเทียบกับสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์) รวมถึง การเก็บกัก หรือ การดูดกลับด้วย จากกิจกรรมหรือโครงการ ซึ่งสิทธิดังกล่าวจะต้องมีการรับรองโดยหน่วยรับรอง ตามระเบียบหรือวิธีการของทางราชการที่เป็นที่ยอมรับหรือเทียบได้กับระดับสากล โดยประเทศไทยก็มีหน่วยงานชื่อว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เป็นองค์การมหาชน ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยวิเคราะห์ กลั่นกรอง และรับรองโครงการ 

ประเทศต่าง ๆ ได้ตั้งเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) .ในปีต่าง ๆ จากการประชุม COP26 โดยประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่กำหนดเป้าหมายไว้ที่ปี ค.ศ. 2050 และประเทศไทยกำหนดเป้าหมายไว้เป็นสองระยะ คือ ระยะยาว ในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) นอกจากนี้ยังประเทศไทยยังได้กำหนดเป้าหมายระยะกลาง ในความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) คิดเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593)

“ตลาดคาร์บอน (Carbon Market” จึงถูกตั้งขึ้นเพื่อทำการซื้อขายและแลกเปลี่ยนคาร์บอน เพื่อนำไปใช้ในการบรรลุเป้าหมายขององค์กรที่กำหนดไว้ หรือเพื่อชดเชย (Offset) การปล่อยเมื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การประชุมแบบความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Meeting) โดยตลาดคาร์บอนมีอยู่ 2 ประเภท คือ ภาคบังคับ ที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย และภาคสมัครใจ เป็นการดำเนินการองค์กรที่มีเป้าหมายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น กรณีของประเทศไทยที่ยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำร่างกฎหมาย)

โดยการรับรองโครงการด้านการลด/การดูดกลับ หรือเก็บกักก๊าซเรือนกระจก ดำเนินการโดยมีผู้ประเมินจากภายนอก และ อบก. มีการรับรองโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) โดยมีโครงการประเภทพลังงานทดแทน การจัดการของเสีย การปลูกป่า เป็นต้น การดำเนินการ ปี 2557 ถึงปัจจุบัน มีโครงการที่ได้รับรองคาร์บอนเครดิตจาก อบก. จำนวน  345    โครงการ สามารถรับรองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่า (tCO2eq)

โครงการหรือกิจกรรมในการขอการรับรองคาร์บอนเครดิต มี 2 ลักษณะ ได้แก่ 

  1. โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในระดับนโยบายหรือระดับโครงการ โดยเป็นการลดจากกิจกรรมการผลิต การใช้พลังงาน การขนส่ง กิจกรรมการเกษตร การใช้ประโยชน์ที่ดิน และการจัดการของเสีย
  2. โครงการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ การดูดกลับลงในชั้นใต้ดิน การปลูกต้นไม้เพื่อดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น
 

เนื่องจากการรับรองคาร์บอนเครดิต จะต้องผ่านการตรวจสอบทางวิชาการ ผู้ตรวจสอบต้องผ่านการอบรมและมีความรู้ความสามารถ และยืนยันได้ว่าเกิดขึ้นจริง จึงต้องมีค่าใช้จ่ายในการตรวจประเมิน ดังนั้น กิจกรรม/โครงการ จะต้องมีขนาดโครงการที่เหมาะสมกับค่าใช้จ่าย จึงจะคุ้มทุน เช่น ปลูกต้นไม้ไม่น้อยกว่า 10 ไร่ เป็นต้น หรือ ถ้าเป็นรายเล็ก ๆ ก็เชื่อมโยงกันหลายโครงการหรือกิจกรรมได้

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย อบก. และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เริ่มเปิดแพลตฟอร์มในซื้อขายคาร์บอน ที่ผ่านการรับรองจาก อบก. แล้ว แต่เป็นการดำเนินการแบบสมัครใจ และหากมีกฎหมายเกิดขึ้นในอนาคต ก็จะเป็นมาตรการบังคับที่องค์กร หรือเอกชนจะต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรหรือประเทศต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก: คอลัมน์ GREEN ECONOMY

เรียบเรียงโดย:

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา

ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

Tags:
บทความเกี่ยวข้อง: