การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของประชากรโลก ทำให้การผลิตและการบริโภคเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดมลพิษและภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญระดับโลก
ที่ทำให้ผู้คนตื่นตัวและตระหนักในการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการปล่อยของเสียและก๊าซเรือนกระจก ผ่านการริเริ่มกิจกรรมต่าง ๆ
ไม่เพียงแต่ฝั่งผู้ผลิตเท่านั้น แต่ผู้บริโภคก็เริ่มตื่นตัวในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้รักษ์โลกมากขึ้น โดยมีหลายทางเลือก
ซึ่ง “ฉลากสิ่งแวดล้อม” ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่ได้สื่อสารและบ่งบอกความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้บริโภครับทราบ
เนื่องจากฉลากสิ่งแวดล้อม เป็นฉลากที่มอบให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน
ทำให้ผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้นเน้นคุณค่าทางสิ่งแวดล้อม และสามารถเลือกซื้อสินค้าและบริการ ที่ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการบริโภคทรัพยากรของตน
ในขณะที่ผู้ผลิตก็จะได้รับผลประโยชน์ในแง่กำไร จากการลดต้นทุนที่เกิดจากการลดทรัพยากร พลังงาน และของเสีย ในการผลิตสินค้าหรือให้บริการ
ฉลากสิ่งแวดล้อมยังช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดการของเสียโดยการเพิ่มระดับและประสิทธิภาพของการรีไซเคิลอีกด้วย
มาทำความรู้จักประเภทฉลากสิ่งแวดล้อมในระบบมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีการแบ่งไว้ 3 ประเภท
ฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 (ISO 14024) เป็นฉลากที่แสดงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้การรับรองโดยองค์กรอิสระที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ Third party ซึ่งในประเทศไทยนั้น มีการออกฉลากประเภทที่ 1 คือ “ฉลากเขียว”
ส่วน ฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 2 เป็นฉลากที่ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย หรือ ผู้ส่งออก จะเป็นผู้บ่งบอกความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือแสดงค่าทางสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ตนเอง โดยไม่มีองค์กรกลางในการดูแล
และฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 3 (ISO14025) เป็นฉลากที่แสดงถึงผลกระทบของผลิตภัณฑ์ต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีหน่วยงานอิสระ หรือองค์กรกลางในการทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนที่จะประกาศลงกับผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ต่อไป
นอกจากนี้ยังมีฉลากสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่พัฒนาขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะ ในการแสดงเจตนาเพื่อสื่อหรือจูงใจให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการเลือกใช้สินค้าหรือบริการนั้น ๆ เช่น ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ฉลากประสิทธิภาพสูง ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และโรงแรมใบไม้เขียว เป็นต้น
ผู้บริโภคสามารถสังเกตที่สัญลักษณ์ของฉลากสิ่งแวดล้อม ที่สื่อว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรที่อย่างมีเหตุผล
เป็นเรื่องที่ควรค่าแก่การจดจำว่า การเลือกทางนิเวศวิทยามักจะแปลเป็นการคุ้มครองสุขภาพเช่นกัน และยังมีฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทอื่น ๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือฉลากในระบบมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมตามระบบ ISO
แต่ก็ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนาทางด้านสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเป็นสื่อหรือจูงใจให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการเลือกใช้สินค้าหรือบริการนั้น ๆ
สำหรับช่องทางการเข้าถึงสินค้ามีหลากหลาย รวมถึงสื่อโฆษณา โดยที่สินค้าไม่ว่าจะผลิตภายในประเทศหรือนำเข้าก็ตามจะมีกระบวนการผลิตที่ใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูงขึ้นตามลำดับ
การที่ผู้บริโภคจะตรวจพบว่าสินค้าไม่ปลอดภัยนั้น จึงกระทำได้ยาก เมื่อผู้บริโภคนำสินค้าที่ไม่ปลอดภัยไปใช้ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัย จิตใจ หรือทรัพย์สินของผู้บริโภคหรือบุคคลอื่นได้
แต่การฟ้องคดีในปัจจุบันเพื่อเรียกค้าเสียหาย ก็ยังมีความยุ่งยาก เนื่องจากกระบวนการ พิสูจน์ถึงความจงใจ หรือประมาทเลินเล่อในการกระทำผิดของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้านั้น ตกเป็นหน้าที่ของผู้ได้รับความเสียหายที่ต้องดำเนินคดีตามหลักกฎหมายทั่วไป
เพราะยังไม่มีกฎหมายให้ความคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากสินค้าและหน้าที่ความรับผิดชอบในความเสียหายของผู้ผลิตหรือผู้เกี่ยวข้องไว้ชัดเจน
ฉลากสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแต่สร้างมาตรฐานให้กับสินค้า และเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขัน แต่ยังช่วยในการสื่อสารกับให้ผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โดยสร้างความมั่นใจว่าสินค้านั้นมีคุณภาพจริง ๆ ด้วยการได้รับข้อมูลที่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้เอง ฉลากสิ่งแวดล้อมจึงมีความสำคัญทั้งด้านการบริโภคซึ่งได้ช่วยในเรื่องการเพิ่มความเชื่อมั่นในสินค้าอุปโภคและบริโภคในตลาด
และยังประโยชน์ให้กับผู้ผลิต ทำให้ธุรกิจมีโอกาสต่อการแข่งขันมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตภายในประเทศมีโอกาสเข้าถึงตลาดต่างประเทศมากขึ้น
หากพิจารณาสิทธิผู้บริโภค 5 ประการ ตามที่กฎหมายกำหนดนั้น มีดังนี้
1) ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้อง และเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ
2) สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ
3) สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ
4) สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ และ
5) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณา และชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง และชดใช้ค่าเสียหายเมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค (ที่มา: พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 4)
จากสิทธิผู้บริโภคข้างต้น การซื้อสินค้าที่มีฉลากสิ่งแวดล้อม ช่วยให้ผู้บริโภคได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์
เพราะผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อม มีข้อกำหนดและการพิจารณาแตกต่างกันไปตามประเภทของผลิตภัณฑ์ ทั้งในแง่การผลิต การใช้ การทิ้งทำลาย และความเสียหายของสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผลิตภัณฑ์
ซึ่งจะคำนึงถึงการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้มีการผลิต การขนส่ง การใช้และการกำจัดทิ้งหลังการใช้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลัก 3R คือ ลดการใช้ (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)
ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นทางเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยกันลดปัญหาโลกร้อน รวมถึงความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ
เนื่องจาก ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากสิ่งแวดล้อมนอกจากจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองว่ามีคุณภาพเท่ากับหรือสูงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป อีกทั้งยังมีความปลอดภัยจากสารเคมีที่เป็นอันตราย
และในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้งานผลิตภัณฑ์ สามารถติดต่อกลับไปยังผู้ผลิตในช่องทางที่ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน.
ขอบคุณข้อมูลจาก: กรุงเทพธุรกิจ
Share: