29 ตุลาคม 2567 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI โดยโครงการพัฒนาความร่วมมือไทย-ลาว-เมียนมา การจัดการและลดหมอกควันข้ามแดน นำโดย ดร.สุพัฒน์ หวังวงค์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษหมอกควันข้ามแดน คุญเบญจมาส โชติทอง ที่ปรึกษาโครงการ คุณวิลาวรรณ น้อยภา หัวหน้าโครงการ และนักวิจัย ร่วมงานเปิดตัวแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (Joint Plan of Action - CLEAR Sky Strategy) (2567 - 2573) จัดโดยกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิธีเปิดตัวแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (Joint Plan of Action - CLEAR Sky Strategy) (2567 - 2573) ระหว่าง ไทย สปป.ลาว และเมียนมา ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ
งานเปิดตัวแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส โดยมีนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานร่วมในพิธีเปิด พร้อมด้วย นางบุนคำ วอละจิด รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และนายคิน หม่อง ยี รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ร่วมกล่าวแสดงเจตนารมณ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนของแต่ละฝ่าย
ซึ่งทั้ง 3 ประเทศ ได้ร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (Clear Sky Strategy) (2567 - 2573) ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจาอาเซียน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ซึ่งทั้ง 3 ประเทศ ได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหมอกควันที่เป็นรูปธรรมและบูรณาการร่วมกัน และทั้ง 3 ประเทศ จะร่วมมือกันดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการเพิ่มสมรรถนะและการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนานวัตกรรม ในปี 2567 - 2573 รวมถึงการกำหนดเป้าหมายลดจุดความร้อน การจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงการเกิดไฟไหม้-ไฟป่า การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชน การส่งเสริมความร่วมมือกับพันธมิตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และการจัดตั้งสายด่วน (Hotline) เพื่อประสานงานระหว่างทั้ง 3 ประเทศต่อไป
อีกทั้ง ยังมีการสัมมนาแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียน ร่วมกันอภิปราย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวทางปฏิบัติที่ดี ระหว่างกรมควบคุมมลพิษ คณะผู้เชี่ยวชาญจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย จีน องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) โดยมีคณะทูตจากประเทศสมาชิก ประเทศคู่เจรจา อาเซียน และประเทศพันธมิตรร่วมรับฟังด้วย
Share: