จากฟางข้าวสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อลดปัญหาการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน

17 - 18 ตุลาคม 2567 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยโครงการพัฒนาเครือข่ายชุมชนและเกษตรกรอาชีวศึกษาสู่การจัดการขยะและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างยั่งยืน นำโดย คุณสุทัสสา วงศ์ราช หัวหน้าโครงการและคณะวิจัย พร้อมด้วยคณะอาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอหันคา (ศพก. หันคา) จ.ชัยนาท โดยได้รับเกียรติจากนายขวัญชัย แตงทอง ประธานศูนย์เรียนรู้ฯ และเกษตรกรดีเด่น มาถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตเยื่อกระดาษจากฟางข้าว ด้วยแนวคิดการลองผิดลองถูก ผ่านกระบวนการผลิตอย่างง่าย ไม่ใช้สารเคมี โดยใช้โมเดลจากการผลิตกระดาษสา มาเปลี่ยนเป็นการผลิตกระดาษจากฟางข้าว พร้อมทั้งเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ถุง กระถางเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านดินและการจัดการนาข้าวที่สร้างรายได้ให้คนในชุมชนและผู้ที่สนใจ อีกทั้งเป็นแนวทางของการใช้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำบรรจุภัณฑ์กระดาษฟางข้าว จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางเกษตร โดยแนวคิดและฝีมือวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอารักษ์ ณ ศูนย์การเรียนรู้กลุ่มอารักษ์กระดาษฟางข้าว ชุมชนลาดบัวขาว อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี จากปัญหาการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่ เกิดมลพิษทางอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในครอบครัว จึงเป็นที่มาของการเกิด กลุ่มอารักษ์ ที่หมายถึง อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการได้รับซื้อฟางอัดก้อนจากคนในชุมชน มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า เช่น กระดาษจากฟางข้าว และได้มีการต่อยอดเป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เครื่องใช้ตกแต่ง และปฏิมากรรมและของที่ระลึก ส่งขายต่างประเทศ อีกทั้งเป็นรายได้เสริมให้คนในชุมชน

ฟางข้าว จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่เหลือทิ้ง สามารถแปรเปลี่ยนเป็นมูลค่า ยกระดับเกษตรกรรมและวิสาหกิจชุมชนไทย ให้เป็นที่ต้องการของตลาด และเพื่อมุ่งเป้าลดโลกเดือด ตอบสนองนโยบายของการลดการเผาในภาคเกษตรและการบริหารจัดการขยะในชุมชนได้อย่างยั่งยืน