หลังวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เมืองเชียงราย

24-26 กันยายน 2567 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) โดยคุณเบญจมาส โชติทอง คุณธนิรัตน์ ธนวัฒน์ และคุณพรชนก เสวตวงษ์ คณะนักวิจัย โครงการ Urban Resilience สำรวจสถานการณ์หลังวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่เมืองเชียงราย และวิเคราะห์ศักยภาพและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชุ่มน้ำ 

เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่บริเวณในเมืองและรอบเมืองเชียงราย เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา สร้างผลกระทบต่อบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำกกและที่ลุ่มต่ำ

เมื่อน้ำเริ่มลดลง ประชาชนยังต้องมีภาระในการล้างบ้านและนำดินโคลนที่ติดค้างอยู่ออก เพื่อให้การใช้ชีวิตอย่างปรกติกลับมาโดยเร็ว แต่สถานการณ์นี้ไม่ง่ายนัก เมื่อน้ำในลำน้ำแม่กก และลำน้ำแม่กรณ์ ที่เป็นแหล่งน้ำประปายังคงมีตะกอนสีแดงแขวนลอยอยู่มาก

ส่วนข้าวของเครื่องใช้ที่เสียหาย ประชาชนได้มาทิ้งกองไว้ริมถนน รอการเก็บขนจากเทศบาลนครเชียงราย ซึ่งมีหลายฝ่ายช่วยสนับสนุน ส่วนใหญ่เป็นตู้ โต๊ะ ชั้นวางของ ที่นอน เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ รวมถึงดินโคลนที่กองและใส่ถุงดำทิ้งรวมกัน

การเก็บขนขยะเหล่านี้ หากสามารถแยกระหว่างสิ่งของที่เสียหายเพื่อให้เทศบาลฯ นำไปฝังกลบนอกเมือง ส่วนการเก็บกวาดดินโคลนควรใส่กระสอบแทนใส่ถุงดำรอให้ดินแห้งหน่อยแล้วค่อยรวบรวมไปทิ้งในพื้นที่ใกล้ ๆ ก็จะช่วยประหยัดแรงงานและต้นทุนได้มาก 

อีกเรื่องที่เร่งด่วน ก็คือ การทำความสะอาดถนนที่มีดินโคลนตกค้าง เพื่อลดฝุ่นจากการที่รถสัญจรไปมา  

แน่นอนว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังการฟื้นฟูเมืองผ่านพ้นไปก่อน โดยต้องไม่ละเลยเรื่องการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน พื้นที่รับน้ำ ระบายน้ำ และลำน้ำตามธรรมชาติ เพื่อการป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม ที่เราต่างตระหนักกันดีว่าอาจจะเกิดขึ้นอีกในไม่ช้า

ขอส่งกำลังใจให้เมืองเชียงราย กลับมาเป็นเมืองที่น่าอยู่และน่าเที่ยวโดยเร็ว