ถอดบทเรียนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ "บึงบอระเพ็ด" ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

บึงบอระเพ็ด เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งเป็นที่รองรับน้ำยามเกิดอุทกภัย หรือช่วงฤดูน้ำหลาก ในอดีตมีความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรน้ำโดยเกษตรกรกลุ่มอาชีพต่าง ๆ แต่ภายใต้การประสานงานของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ และความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับองค์กรผู้ใช้น้ำและชุมชนในพื้นที่ เพื่อการจัดบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีส่วนร่วม เพื่อการประกอบอาชีพ การดำรงชีวิตและการรักษาระบบนิเวศ  ทำให้ชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ดสามารถปรับตัวและรับมือกับภาวะน้ำท่วมน้ำแล้งได้เป็นอย่างดี 

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (DCCE) นำโดยคุณรสริน อมรพิทักษ์พันธุ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาแนวทางและศักยภาพในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) นำโดย ดร. ธงชัย โรจนกนันท์ ที่ปรึกษาโครงการ ดร. จีรนุช ศักดิ์คำดวง ผู้รับผิดชอบโครงการ คุณวิลาวรรณ น้อยภา ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติ และคณะนักวิจัย ร่วมเก็บข้อมูลสำรวจการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ที่บึงบอระเพ็ด เพื่อจัดทำแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้โครงการพัฒนาแนวทางกลไกความร่วมมือในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยวันที่ 18-19 สิงหาคม 2567 คณะทำงานได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด และหารือแนวทางการปรับตัวของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพเก็บรากบัว รวมทั้งจัดประชุมพิจารณาร่างแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคณะทำงานได้รวบรวมแนวทาง ข้อสรุปและข้อเสนอแนะ นำเสนอให้แก่ที่ประชุมได้รับทราบและรับฟังความคิดเห็น โดยภายหลังการประชุมดังกล่าว คณะทำงานจะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากผู้เข้าร่วมประชุม มาปรับแก้ไขและจัดทำแนวทางการปรับตัวฯ ต่อไป