ผู้นำชุมชนท้องถิ่น ท้องที่ ไทย-สปป.ลาว ศึกษาดูงานแม่วากโมเดลกับการจัดระบบเกษตรพื้นที่สูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดการเผา

ชุมชนบ้านแม่วากเป็นหนึ่งในหมู่บ้านต้นแบบของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนไทยพื้นเมือง และกะเหรี่ยง ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยการปลูกข้าวโพด ข้าวนา ข้าวไร่ เป็นหลัก ซึ่งปัญหาสำคัญในพื้นที่มีการทำไร่เลื่อนลอยที่ขาดการอนุรักษ์ดิน ชุมชนมีรายได้ต่ำ บุกรุกป่า เผา และใช้สารเคมีมาก และยังพึ่งพาตนเองได้น้อย ไม่มีช่องทางการตลาดรองรับการประกอบอาชีพ พึ่งพาพ่อค้าคนกลาง และพื้นที่ส่วนใหญ่ขาดน้ำทั้งอุปโภคและบริโภค โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) ได้เข้ามาดำเนินการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ ครบวงจร และยั่งยืน โดยการพัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาอาชีพและตลาด ถ่ายทอดองค์ความรู้การทำปุ๋ยหมักเศษพืช พลังงานชีวมวล ลดการเผา การดูแลป่ารอบชุมชน ป้องกันไฟป่า การจัดการป่าเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ กำหนด zoning ปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล อะโวกาโด กาแฟ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือจนเกิดเป็น ”แม่วากโมเดล” อันเป็นรูปแบบดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่โดยกระบวนการมีส่วนร่วมร่วมของชุมชน มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการทำงานอำเภอแม่แจ่ม ร่วมกันปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตร จัดทำแผนที่รายแปลง ลดการบุกรุกพื้นที่ป่าปลูกพืชทดแทน สร้างรายได้ พัฒนาระบบกระจายน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่สูง ปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร แก้ไขปัญหาการเผาและฝุ่นละออง PM2.5 บนพื้นที่สูง เช่น การไถกลบเป็นคันดินปุ๋ย การทำปุ๋ยหมัก ตลอดจนการวางแผนปรับโครงสร้างการเกษตรรายครัวเรือน ปรับระบบการใช้ที่ดินของเกษตรกรให้เป็นมิตรภาพต่อสิ่งแวดล้อม และถูกต้องตามหลักวิชาการโดยไม่ใช้ไฟเผาให้น้อยที่สุด  13 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ภายใต้การดำเนินงานโครงการความร่วมมือไทย-ลาว-เมียนมา ขับเคลื่อนการจัดการและลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน นำโดยคุณวิลาวรรณ น้อยภา หัวหน้าโครงการ และคณะนักวิจัย จัดกระบวนการอบรมเชิงปฏิบัติการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการลดการเผาด้วยวิถีปฏิบัติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ณ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ  บ้านแม่วาก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ให้กับ ผู้บริหารรัฐ ผู้นำชุมชนท้องถิ่น ท้องที่จาก อ.แม่สรวย และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เจ้าหน้าที่และผู้นำเมืองปากทา แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว รวมกว่า 60 คน  

การศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนครั้งนี้ผู้เข้าร่วมมองเห็นถึงโอกาสและความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตน โดยผู้แทนเมืองปากทากล่าวว่าลักษณะภูมิประเทศ สปป. ลาว แม้จะมีความแตกต่างจากบ้านแม่วากแต่สามารถนำรูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนมาปรับใช้ได้โดยจะเอาชุมชนเป็นฐานเชื่อมกับแผนและแนวนโยบายของประเทศ ส่วนผู้นำจาก อ.แม่สรวย และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงรายเองก็ให้ความสนใจในรูปแบบการปรับแผนโครงสร้างเกษตรครัวเรือน และการจัดการที่ดิน ซึ่งคาดว่าน่าจะสามารถนำไปปรับใช้ได้เช่นกัน ซึ่งสำคัญต้องมีการวางแผนและวางเป้าหมายให้ชัดเจน