เตรียมการจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดเชียงราย เพื่อการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำที่ยั่งยืน

พื้นที่เมืองถือเป็นพื้นที่เปราะบางมาก เนื่องจากจากการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว การวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่ครอบคลุม ไม่เหมาะสม และไม่ได้คำนึงถึงระบบนิเวศ นำไปสู่การสูญเสียระบบนิเวศตามธรรมชาติที่สามารถช่วยรองรับและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งผลิตอาหาร ตลอดจนเป็นพื้นที่กักเก็บ สำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และป้องกันน้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำหลาก จังหวัดเชียงรายมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับแรมซาร์ไซด์ 1 แห่ง (เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย) ระดับนานาชาติ 1 แห่ง ระดับชาติ 3 แห่ง และระดับท้องถิ่นกว่า 670 แห่ง 

วันที่ 11-14 มิ.ย. 2567 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) นำโดยคุณธนิรัตน์ ธนวัฒน์ ผู้จัดการโครงการ พร้อมด้วยคณะนักวิจัย ร่วมกับ องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)  และศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) หน่วยงานภาคีความร่วมมือภายใต้โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถเมืองและธรรมชาติในการตั้งรับปรับตัวต่อผลกระทบจากวิกฤติสภาพอากาศ (Urban Resilience Building and Nature) สำรวจพื้นที่และเข้าพบหารือหน่วยงาน เพื่อแลกเปลี่ยนในประเด็นในการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำในจังหวัดเชียงราย และสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้านการใช้ประโยชน์พื้นที่ในอดีตและปัจจุบัน ปัญหาด้านภัยพิบัติและการรับมือ และการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ได้ข้อสรุปว่า ปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำบางแห่งในพื้นที่ เริ่มถูกบุกรุกและมีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ชุ่มน้ำที่ไม่เหมาะสม บางแห่งหายไปจากการขยายตัวของเมือง พื้นที่เกษตรกรรม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  จึงจำเป็นต้องมีการจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำระดับจังหวัด เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานในการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืนและเหมาะสมพื้นที่ โดยเริ่มจากการกำหนดบทบาทหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ตลอดจนการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ ในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยดูแลและจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำให้คงอยู่ต่อไป