รู้จักบ้านห้วยทอง เมืองปากทา พื้นที่ความร่วมมือปฏิบัติการลดหมอกควันข้ามแดน สปป.ลาว เมืองคู่ขนานชายแดนไทย

“ประชากรเมืองปากทา ยังมีความยากจน มีระดับการศึกษาในระดับต่ำ การเดินทางคมนาคมมีความยากลำบากอยู่มาก การเพาะปลูกไม่ค่อยได้ผลและมีปัญหาด้านการตลาด การปลูกข้าวในที่ราบไม่เพียงพอต่อการบริโภคในครอบครัว ชาวบ้านหลายครอบครัวที่ไม่มีที่ทำกินในพื้นที่ราบ จึงต้องปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด ปลูกลูกเดือย แบบหมุนเวียนในพื้นที่ภูเขาสูง การเพาะปลูกแบบนี้เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเผาป่าและเศษวัสดุเกษตรในช่วงเตรียมการเพาะปลูก และส่งผลกระทบเกิดมลพิษและหมอกควันตามมา ดังนั้น การสนับสนุนผ่านโครงการนี้ ของประเทศไทย จะเป็นประโยชน์ร่วมกันในการควบคุมและลดการเผา ทั้งความรู้ ความเข้าใจในการจัดการลดมลพิษจากการเผาต่อไป” 

ท่านสุไล ดวงผาคำ เจ้าเมืองปากทา กล่าวให้ข้อมูลกับคณะผู้นำหน่วยงานและนักวิจยโครงการฯ วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 เมื่อครั้งการประชุมหารือกรอบความร่วมมือปฏิบัติการลดการเผาลดหมอกควันข้ามแดนร่วมกับเมืองปากทา สปป.ลาว ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมได้เสนอหมู่บ้านห้วยทอง เมืองปากทา ให้เป็นพื้นที่เป้าหมายร่วมขับเคลื่อนปฏิบัติการลดการเผา ลดหมอกควันข้ามแดน  ซึ่งเป็นพื้นที่แนวเขตชายแดนเมืองคู่ขนานของ สปป.ลาว กับอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย โดยจะร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์องค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อการแก้ไขปัญหาการเผาและหมอกควันข้ามแดนระหว่างกัน *ภายใต้การดำเนินงานโครงการพัฒนาความร่วมมือไทย ลาว และเมียนมา ขับเคลื่อนการจัดการและลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ในระยะต่อไป 

หมู่บ้านห้วยทอง เมืองปากทา แขวงบ่อแก้ว ตั้งห่างจากเมืองปากทา ระยะทาง 7 กิโลเมตร มีประชากร 750 คน มีครัวเรือน 146 ครอบครัว เป็นชนเผ่าลาวและเผ่ากุมมู ประกอบอาชีพหลักคือ ทำนาและเลี้ยงสัตว์ มีพื้นที่ทั้งหมดคือ 4,546.51 เฮกตาร์หรือ 28,415.6875 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่การผลิต จำนวน 5,289.125 ไร่ เป็นป่าคุ้มครอง จำนวน 21,821.1875 ไร่  หลายครอบครัวไม่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวในที่ราบ จึงต้องมีการขอปลูกข้าว ข้าวโพด ปลูกลูกเดือย แบบหมุนเวียนในพื้นที่ภูเขาสูง โดยมีข้อตกลงร่วมกับนายบ้านและหัวหน้าหน่วย ภายใต้แผนจัดการไฟป่าระดับหมู่บ้าน และแนวนโยบายของ สปป.ลาว ซึ่งมีการจัดทำแผนงการจัดไฟป่าระดับหมู่บ้าน ปี 2567 หมู่บ้านห้วยทองสอดคล้องตามกฎหมายป่าไม้แห่งชาติ ของ สปป.ลาว เกี่ยวกับการจัดการและดำเนินการผู้ฝ่าฝืนกฎระเบียบด้านการเกษตรและป่าไม้ ซึ่งมีการจัดแบ่งโครงสร้างการควบคุมไฟป่าระดับหมู่บ้าน ประกอบหัวหน้าหน่วย 1 คน รับผิดชอบการบูรณาการการวางถังดับเพลิง ประเมินความเสี่ยง หารือและรายงานต่อสำนักงานเกษตรและป่าไม้ให้รับทราบข้อมูล และคณะรับผิดชอบ 3 ส่วนงาน ได้แก่ การควบคุมอัคคีภัย 6 คน  นำหน่วยลาดตระเวน ประเมินสถานการณ์ไฟไหม้ขณะเกิดและหลังเกิดเหตุ เพื่อรายงานต่อหัวหน้าหน่วย การสนับสนุนน้ำและอาหาร 7 คน จัดหางบประมาณ จัดเตรียมและแจกจ่ายอาหาร และประชาสัมพันธ์ และสมาชิกการดับไฟป่า 10 คน จัดให้มีอุปกรณ์และดับไฟ พร้อมการกำหนดกิจกรรมป้องกันไฟและแก้ไขไฟป่าใน 7 ข้อสำคัญใน 12 เดือน กล่าวคือ ให้มีการเผยแพร่กฎหมายและความรู้เกี่ยวกับการป้องกันในกาประชุมหมู่บ้าน ประกาศทางเสียงกระจายข่าวหมู่บ้าน สร้างแนวกันไฟ ตรวจทีมควบคุม จัดทำรายงานก่อนและหลังเกิดไฟ จัดหางบประมาณ และประชุมประจำปีเพื่อถอดบทเรียนและวางแผนจัดการไฟป่าสำหรับปีต่อไป 

การปฏิบัติตามกรอบแผนงานการจัดไฟป่าระดับหมู่บ้าน ปี 2567 หมู่บ้านห้วยทอง ผู้นำและแกนนำหมู่บ้านกล่าวเสริมถึงการบริหารจัดการว่า “การเผาเพื่อประกอบอาชีพทำนาของชุมชน และยังคงมีความจำเป็นโดยใช้การเผาเศษวัสดุทางการเกษตรเพื่อลดต้นทางในการเตรียมแปลง ขาดแคลนแรงงาน เครื่องจัก และเทคโนโลยีช่วย และพื้นที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยหน่วยควบคุมจะมีการปรึกษาหารือขอเผาเพื่อเตรียมแปลงปลูกพืชหมุนเวียนในพื้นทีภูเขาสูงเป็นรายแปลง พร้อมกำชับไม่ให้เกิดการลุกลามและให้เผาได้ในช่วงหลังเวลา 14:00 น. ปัจจุบันชุมชนยังขาดทักษะการในการเข้าดับไฟและมีอุปกรณ์ที่เพียงพอและเหมาะสมในการเข้าสกัดเมื่อเกิดการลุกลาม จึงมีความต้องการในส่วนนี้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”