TEI ร่วมประชุม 2 พื้นที่นำร่อง เกาะติดข้อมูลและสถานการณ์ช่วงเข้าสู่การบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เสี่ยง เหตุและแหล่งกำเนิดมลพิษ PM2.5 และหมอกควันข้ามแดน

โครงการพัฒนาความร่วมมือไทย ลาว และเมียนมา ขับเคลื่อนการจัดการและลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI  นำโดยคุณวิลาวรรณ น้อยภา หัวหน้าโครงการ และคณะนักวิจัย เข้าร่วมกับอำเภอแม่สรวยและอำเภอเวียงแก่น และภาคีหน่วยงานรัฐ เข้าร่วมการประชุมประจำเดือนหัวหน้าส่วนราชการ ประจำเดือนอำเภอแม่สรวยและอำเภอเวียงแก่น เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อรับทราบข้อมูลการบริหารงานราชการและการพัฒนาของทั้ง 2 อำเภอ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินงาน ตลอดจนนำเสนอความก้าวหน้างานของโครงการฯ ให้กับภาคส่วนต่างๆ ได้รับทราบและสนับสนุนความร่วมมือที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างจัดเตรียมการพัฒนาศักยภาพให้กับผู้นำชุมชน เกษตรกร ของ 2 อำเภอ เข้าศึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้การวิจัย และพัฒนานวัตกรรมบนพื้นที่สูง เพื่อนำมาปรับปฏิบัติการลดเผาให้เกิดผลรูปธรรมในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2567 ที่จะถึงนี้

มาตรการการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เสี่ยง จังหวัดเชียงราย เป็น 1 ประเด็นสำคัญของการประชุมหัวหน้าส่วนราชการอำเภอ เพื่อสื่อสารและร่วมกันบริหารสถานการณ์การเผาและป้องกันการสะสมของมลพิษทางอากาศในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ระหว่างวันที่ 1-30 พฤษภาคม 2567 หลังข้อตกลงความร่วมมือและร่วมกำหนดช่วงเวลาห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิดของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ และจังหวัดน่าน) ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึง 30 เดือนเมษายน 2567 ซึ่งจังหวัดเชียงราย ได้ประกาศห้ามการเผาในที่โล่งทุกชนิดโดยเด็ดขาด "76 วันปลอดการเผา ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย” เพื่อควบคุมและป้องกันการสะสมของมลพิษทางอากาศ อันส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยจังหวัดเชียงราย ได้แถลงข้อมูลว่าได้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในห้วงห้ามเผาตั้งแต่ 16 มกราคม–14 กุมภาพันธ์ 67 ซึ่งจุดความร้อนเป็นตามแผนที่ตั้งไว้ คือ 145 จุด คิดเป็นร้อยละ 27 โดยช่วงระยะห้ามเผาเด็ดขาดทั้ง 6 กลุ่ม ได้ตั้งเวลาการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ในช่วงแรกให้บริหารจัดการโดยวิธีธรรมชาติ และในวิธีสุดท้ายคือการเผา โดยกำหนดระยะการเผาเป็น 2 ช่วง คือ ในช่วง 10.00-13.00 น. และ 14.00-17.00น. รวมถึงต้องทำแนวกันไฟเพื่อไม่ให้ไฟลุกลาม และดับให้สนิททุกครั้งของการเผา ส่งผลให้จังหวัดเชียงราย ปี 2567 มีจุดความร้อน และค่าฝุ่น PM 2.5 ลดลงในภาพรวม พร้อมมีนโยบายมอบรางวัลให้กับอำเภอและตำบลที่สามารถบริหารจัดการลดจุดความร้อนได้มากที่สุด โดยใช้สถิติ 3 ปีย้อนหลัง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป