พื้นที่สูงวาวี พื้นที่ความร่วมมือปฏิบัติการลดเผาและหมอกควันข้ามแดน ไทย-สปป.ลาว

พื้นที่สูงวาวีหรือดอยช้าง เป็นเขตพื้นที่เกษตรที่สูงตั้งอยู่ในอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง สภาพภูมิอากาศเย็นสบาย พื้นที่สูงวาวี เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมด้านทัศนียภาพที่สวยงามและวัฒนธรรมของชาวเขาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ตลอดจนเป็นแหล่งปลูกกาแฟและชาพันธุ์ดี โดยเฉพาะกาแฟดอยช้าง ชาอู่หลง รวมถึงพืชผักและผลไม้เมืองหนาว ซึ่งมีความหลากหลายของระบบเกษตร ปัจจุบันเกษตรกรและหน่วยงานในพื้นที่ได้มุ่งพัฒนาระบบการจัดการและปลูกพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยเกษตรแบบผสมผสานและระบบเกษตรยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มคุณภาพของผลผลิต

พื้นที่ตำบลวาวี ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ลาว จึงพบว่ามีไฟไหม้ป่าบนดอยในช่วงฤดูร้อนอยู่เป็นประจำ ซึ่งมาจากหลายปัจจัย ทั้งจาการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตร ซึ่งยากต่อการควบคุมและเกิดการลุกลามไปยังพื้นที่อื่น การเผาวัชพืชและเศษวัสดุทางการเกษตรหลังจากการเก็บเกี่ยวพืชผล การจุดไฟไล่ล่าสัตว์ สภาพอากาศแห้งแล้งในฤดูร้อนร่วมกับลมแรง สามารถทำให้ไฟป่าแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งจากกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อความอบอุ่นและทำอาหาร เป็นต้น ในช่วงวันที่ 1 มกราคม-5 พฤษภาคม 2567 จากการสำรวจโดย GISTDA รวบรวมโดย สวพส. พบว่าข้อมูลจุดความร้อน (Hotspots) พื้นที่ตำบลวาวีพบ 465 จุด ซึ่งลดลงจากปี 2566 คิดเป็นร้อยละ 73 ซึ่งนับว่าเป็นข้อมูลที่สะท้อนผลของความร่วมมือของภาครัฐและชุมชนในการร่วมมือกันทำงาน

15 พฤษภาคม 2567 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI  โดยโครงการพัฒนาความร่วมมือไทย-ลาว-เมียนมา ขับเคลื่อนการจัดการและลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน นำโดยคุณวิลาวรรณ น้อยภา หัวหน้าโครงการ ร่วมกับคณะเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้ที่สูง (สวพส.) และอำเภอแม่สรวย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการกลุ่มย่อยหารือยกระดับขับเคลื่อนความร่วมมือและจัดทำแผนปฏิบัติการลดหมอกควันในพื้นที่สูงวาวี เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนผลรูปธรรมในการปฏิบัติลดการเผา โดยร่วมกันสรุปกรอบแนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือร่วมกันใน 5 กรอบงานสำคัญ ได้แก่ 1) การจัดทำข้อมูลจุดเสี่ยง ตั้งเป้าหมายลดจุดความร้อนระดับตำบล ให้สอดคล้องกับเป้าหมายอำเภอและจังหวัดเชียงราย 2) จัดทำแผนงานภาพรวม เป็นหมวดหมู่และกิจกรรมย่อย บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานท้องถิ่น ท้องที่ 3) พัฒนาศักยภาพผู้นำ อบรม ศึกษาดูงานจัดการลดการเผาและอาชีพลดการเผา 4) ปฏิบัติการกิจกรรมลดการเผากลุ่มพื้นที่ ทั้งระยะวิกฤติ กลาง ระยะยั่งยืน 5) การสื่อสาร ติดตามผล และสรุปบทเรียน พร้อมนี้ โครงการฯ จะได้ให้มีการพัฒนาศักยภาพผู้นำแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการลดการเผาด้วยวิถีปฏิบัติที่เป็นมิตรกับสิงแวดล้อมร่วมกับเจ้าหน้าที่และผู้นำเกษตรกร สปป.ลาว ในกลางเดือนมิถุนายนม 2567 ที่จะถึงนี้ต่อไป