TEI ร่วมกิจกรรม สวพส. และส่วนราชการจังหวัดน่านจัดกิจกรรมทำแนวป้องกันไฟป่าสองแผ่นดิน ไทย-ลาว แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ลดการเผาและฝุ่น PM 2.5

TEI ร่วมกิจกรรม สวพส. และส่วนราชการจังหวัดน่านจัดกิจกรรมทำแนวป้องกันไฟป่าสองแผ่นดิน ไทย-ลาว แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ลดการเผาและฝุ่น PM 2.5 ณ บ้านห้วยโก๋น ตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน 16-17 มีนาคม 2567 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยโครงการพัฒนาความร่วมมือไทย-ลาว-เมียนมา ขับเคลื่อนการจัดการและลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน นำโดยคุณวิลาวรรณ น้อยภา หัวหน้าโครงการ และทีมวิจัยร่วมกิจกรรมการทำแนวป้องกันไฟป่าสองแผ่นดินไทย-ลาว และการประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ลดการเผา และฝุ่นพิษ PM 2.5 แบบบูรณาการและมุ่งเป้า ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) โดยได้รับเกียรติจากนายเทวา ปัญญาบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายสมเกียรติ แสงแก้ว นายอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ท่านทองพัน สุกสะหวัด รองเจ้าเมืองเงิน ผู้แทนแขวงไชยบุรี เป็นประธานเปิดงาน เข้าร่วมกิจกรรมการทำแนวป้องกันไฟป่าสองแผ่นดิน พร้อมมอบนโยบายเกี่ยวกับแนวทางป้องกันไฟป่าสองแผ่นดิน โดยมี เกษตรกรในพื้นที่ตำบลห้วยโก๋น ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปผู้สนใจ เกษตรกรชาว สปป.ลาว กว่า 400 คน เข้าร่วมกิจกรรม

โดยท่านทองพัน สุกสะหวัด รองเจ้าเมืองเงิน ผู้แทนแขวงไชยบุรี กล่าวว่ามีความดีใจที่ได้พาทีมงานจากเมืองเงิน สปป.ลาว เดินทางมาร่วมกิจกรรมวันนี้ และที่ สปป.ลาว กำลังจัดการปฎิบัติทุกครอบครัวโดยมีเป้าหมายว่า *“ลดการเผา ลดการจุด”* เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนรู้จักรักษาสิ่งแวดล้อมให้เขียวสะอาดงามตาอยู่เสมอ และเพื่อให้ผ่านทุกตัวชี้วัดของประเทศอีกด้วย
 
โดยภายในงานมีจุดแสดงนิทรรศการองค์ความรู้ให้กับผู้เข้าร่วมงาน จำนวน 14 นิทรรศการ ได้แก่ แนวทางการปรับระบบเกษตรด้วยเกษตรมูลค่าสูง ด้วยพืชผักในโรงเรือน พืชไร่ และไม้ผลเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยองค์ความรู้จากผลงานวิจัย เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน, กาแฟฟื้นฟูป่าและการพัฒนาสินค้าชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่า, การพัฒนาช่องทางการตลาดด้วย GREEN PRODUCT: ผลผลิตที่ไม่บุกรุกป่า จากพื้นที่ไม่เผา ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว, แนวทางการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร, การทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก, การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยผลิตภัณฑ์จากใบไม้ และการเพาะเห็ด, การสร้างอาหารธรรมชาติจากเศษวัสดุเหลือใช้, การส่งเสริมการเรียนรู้องค์ความรู้่พื้นที่สูงผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัล, การส่งเสริมอาชีพผ้าถักรองเขียงจากเศษวัสดุ, อันตรายจากฝุ่น PM 2.5 และการดูแลป้องกันเบื้องต้น, รณรงค์ลดการเผาและบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร,การบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการแก้ไขปัญหาการเผาอย่างบูรณาการและแนวทางการป้องกันไฟป่าและบริหารจัดการไฟตามหลักวิชาการตามมาตรการของจังหวัด,การจัดการเศษวัสดุการเกษตรเพื่อลดการเผาด้วยชีวมวลอัดแท่ง และองค์ความรู้จากผลงานวิจัย เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน