บทนำ
“ACCCRN” ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (The Rockefeller Foundation) โดยมุ่งส่งเสริมให้ 10 เมืองนำร่องใน 4 ประเทศภายในภูมิภาคเอเชีย คือ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย มีศักยภาพและความพร้อม เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประสานงานกันเป็นเครือข่าย และร่วมมือกันระหว่างภาคีต่างๆ ระดับท้องถิ่นในการพัฒนายุทธศาสตร์และมาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมรับมือและจัดการกับผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นต่อเมืองและประชากรที่มีความเสี่ยง ที่จะได้รับผลกระทบ สำหรับประเทศไทยทางสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยปัจจุบันอยู่ในช่วงการดำเนินงานในระยะที่ 3 ซึ่งการดำเนินงานในระยะที่ 1 ทางสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้ทำการคัดเลือกเมืองนำร่องได้แก่ เมืองเชียงรายและหาดใหญ่ เพื่อดำเนินงานในระยะที่ 2 ที่มุ่งเสริมสร้างศักยภาพเมืองเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ มาตรการ แผนการดำเนินการและข้อเสนอโครงการ รวมทั้งโครงการนำร่องที่มีความเหมาะสมกับสภาพของเมืองและภาวะความเสี่ยง เพื่อเตรียมการรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
จากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา เมืองเชียงรายและเมืองหาดใหญ่ได้มีการพัฒนาศักยภาพเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจต่อเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ ว่าด้วยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเมือง มีการเรียนรู้และรู้จักเครื่องมือที่จะใช้ในการจัดทำยุทธศาสตร์ เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำไปสู่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์และโครงการนำร่องที่มีความเหมาะสมกับประเด็นยุทธศาสตร์ ได้แก่ โครงการเครือข่ายบริหารจัดการอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของเมืองหาดใหญ่ โดยมุ่งเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายความร่วมมือป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบเตือนภัยที่สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยเพื่อสร้างตัวแบบ (Model) ในการจัดการและรับมือกับอุทกภัยโดยการมีส่วนร่วมในชุมชนที่เปราะบาง
สำหรับโครงการนำร่องของเมืองเชียงราย ได้แก่ โครงการพัฒนาเขตเมืองเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่แหล่งน้ำหนองปึ๋งให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง และเป็นแหล่งชะลอการไหลของน้ำในฤดูน้ำหลาก ผลที่ได้รับจากโครงการคือ มีการพัฒนาหนองปึ๋งโดยการขุดลอกคลองระบายน้ำที่มีการตื้นเขิน มีการปรับแต่งตลิ่งเพื่อป้องกันการทรุดตัวและสามารถรับน้ำหลากได้มากขึ้น อีกทั้งยังผสมผสานกิจกรรมการเพิ่มพื้นที่สีเขียว
ผลกระทบต่อสังคม::
ผลักดันการรับมือและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่นโยบายการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศระดับประเทศ และบูรณาการเข้ากับแผนการพัฒนาเพื่อให้เกิดการขยายผลไปยังเมืองต่างๆ ในประเทศไทย อีกด้วย
ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของการดำเนินโครงการ ACCCRN ในระยะที่ 4 ของประเทศไทย คือ การเสริมความเข้มแข็งให้กับเมืองเครือข่ายในการสร้างการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว และเพื่อผลักดันให้การรับมือต่อสภาพภูมิอากาศในระดับเมืองไปสู่นโยบายด้านสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศ อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดการเผยแพร่บทเรียนและเครื่องมือที่สร้างขึ้นจากโครงการ ACCCRN และรวมถึงมุ่งประเด็นหลักไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับชาติเพื่อร่วมมือกันในการพัฒนานโยบายการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติต่อไป
ทั้งนี้กิจกรรมโครงการ ACCCRN ในระยะที่ 4 นั้น มีการดำเนินงานคาบเกี่ยวกับ ACCCRN ในระยะที่ 3 และการดำเนินกิจกรรมมีความต่อเนื่องกันอยู่ โดยโครงการในระยะที่ 4 เป็นช่วงการขยายผลโครงการ (Dissemination and Scaling Up) ผ่านเครือข่ายต่างๆ และผลักดันเข้าสู่นโยบายระดับเมืองและระดับประเทศ การถอดบทเรียน องค์ความรู้ และตัวอย่างที่ดี เผยแพร่โครงการผ่านสื่อต่างๆ เช่น บทความวิชาการ หนังสือ/คู่มือ ฯลฯ