โครงการ ACCCRN ประเทศไทย ระยะที่ 1 การคัดเลือกเมืองนำร่องในประเทศไทย
บทนำ
ประเทศไทย เป็น 1 ใน 4 ประเทศที่ร่วมดำเนิน โครงการเครือข่ายเมืองในเอเชียเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นโครงการระยะที่ 1 การคัดเลือกเมืองนำร่อง จำนวน 2 เมือง โดยมีสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Environment Institute) และศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center – ADPC) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการเพื่อคัดเลือกเมืองนำร่องในประเทศไทย โดยมีเกณฑ์พิจารณาหลักๆ คือ เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ และคาดว่าจะมีความเสี่ยงต่อได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน รวมทั้ง ควรเป็นเมืองที่ยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ เพื่อสามารถส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือที่ดีของหลากหลายภาคีในการรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต
ในเบื้องต้นนั้น ได้มีการเสนอชื่อเมืองที่เป็นตัวแทนจากแต่ละภูมิภาคที่แตกต่างกัน เพื่อทำการศึกษาและคัดเลือกเป็นเมืองนำร่องจำนวน 5 แห่ง ดังนี้
- เมืองเชียงราย จ.เชียงราย
- เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี
- เมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา
- เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต
- เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร
วัตถุประสงค์โครงการ
- เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานของเมืองในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อนำมาเป็นพื้นฐานในการประเมินเพื่อคัดเลือกเมืองนำร่อง
- เพื่อคัดเลือกเมืองที่เหมาะสมจำนวน 2 เมืองที่มีความเสี่ยงและความเหมาะสมมากที่สุดจาก 5 เมือง เพื่อร่วมดำเนินโครงการในระยะต่อไป
ระยะเวลาดำเนินการ
6 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – ตุลาคม 2552
วิธีการดำเนินงาน
การคัดเลือกเมืองนำร่องในประเทศไทย ได้ดำเนินกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม คือ
กิจกรรมที่ 1 การเตรียมการและทำความเข้าใจโครงการร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง
- รวบรวมข้อมูลทุติยภูมิพื้นฐานของเมืองในด้านต่างๆ ทั้งด้านกายภาพ ด้านการบริหารจัดการ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
- จัดเตรียมประเด็นคำถามและจัดทำแบบสอบถาม สำหรับการเก็บข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วและผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับพื้นที่
- จัดประชุมคณะที่ปรึกษาโครงการ อันประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานร่วมดำเนินการ ได้แก่มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อทำหน้าที่กำกับ ดูแล ให้คำปรึกษา และเสนอแนะแนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งร่วมคัดเลือกเมืองนำร่อง
- จัดประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในรายละเอียดและแนวทางการดำเนินโครงการร่วมกับผู้แทนภาคีจากเมืองนำร่องทั้ง 5 แห่ง
กิจกรรมที่ 2 การสำรวจและ เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำประกอบการประเมินคัดเลือกเมืองนำร่อง
- สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จะร่วมกับคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการ ทำการปรับปรุงเกณฑ์ที่จะใช้ในการประเมินเพื่อคัดเลือกเทศบาล
- คณะผู้ศึกษาร่วมกับคณะทำงานระดับเมือง ที่แต่งตั้งโดยภาคีท้องถิ่นหรือเทศบาล สำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลที่สอดคล้องกับเกณฑ์การคัดเลือกเมืองนำร่องจากกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้เครื่องมือต่างๆ ที่กำหนดไว้ ได้แก่ การจัดประชุมกลุ่มย่อย (focus group) การสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม และการสัมภาษณ์เจาะลึก (หากจำเป็น)
กิจกรรมที่ 3 การคัดเลือกเมืองนำร่องในการดำเนินงานระยะต่อไป
- รวบรวมข้อมูลที่ได้จากการสำรวจทั้งหมดมานำเสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการ เพื่อร่วมกันพิจารณาคัดเลือกเมืองนำร่องตามเกณฑ์พิจารณา
- รายงานสรุปผลการดำเนินงาน และผลการคัดเลือกเมืองนำร่องที่จะเข้าร่วมโครงการฯ โดยแจ้งอย่างเป็นทางการต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาและภาคีเมืองทั้ง 5 แห่ง
เกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกเมืองนำร่อง
องค์ประกอบ
เกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกเมือง
1. การบริหารจัดการด้านที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล
เป็นการพิจารณาถึงแนวทางการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล
- หลักนิติธรรม ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายในการจัดการเมืองและสิ่งแวดล้อม
- หลักคุณธรรม ได้แก่ การดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตและคอรัปชั่น
- หลักความรับผิดชอบ ได้แก่ การดำเนินการของเทศบาลภายหลังจากที่ได้ทำกิจกรรมหรือโครงการใดๆ เช่น การดำเนินการต่อเรื่องร้องเรียน การติดตามประเมินผลโครงการต่างๆ
- หลักการมีส่วนร่วม ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาฯ ร่วมการดำเนินการ และร่วมติดตามประเมินผลการดำเนินงานของเทศบาล
- หลักความโปร่งใส ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูลด้านการเงิน การคลัง และการจัดซื้อจัดจ้างของเทศบาลแก่สาธารณะ
- หลักความคุ้มค่า คือ เทศบาลมีการดำเนินการจัดหาและใช้งบประมาณ และการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล
2. ความพยายามของเทศบาลต่อการจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง
เป็นการพิจารณาถึงการให้ความสำคัญทางด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของเมือง
- ความสอดคล้องระหว่างนโยบายและยุทธศาสตร์ ของเมืองต่อเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการดำเนินโครงการที่สอดคล้องสัมพันธ์กันกับนโยบาย และยุทธศาสตร์ดังกล่าว
- การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพื้นที่สีเขียว
- การป้องกันและจัดการมลพิษ
- การอนุรักษ์และจัดการสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น
3. ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเตรียมความพร้อม
ลักษณะและประเภทของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ความรู้ความเข้าใจของประชาชนต่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบที่คาดว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเบื้องต้น
ความรู้ความเข้าใจของผู้บริหารต่อเรื่องดังกล่าว
การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดเพื่อแก้ปัญหาหรือรับมือ เพื่อลดผลกระทบ และบรรเทาปัญหาหรือความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่อาศัยในเมือง
การมีเครือข่ายหรือความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการจัดการปัญหาหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย
4. ด้านศักยภาพของเทศบาลในการสนับสนุนการดำเนินโครงการในระยะต่อไป
ความมั่นคงทางการเมืองทั้งจากผู้บริหารที่เป็นนักการเมือง และข้าราชการประจำที่จะเป็นผู้สานต่อการดำเนินงาน
ความสนใจของผู้บริหารและข้าราชการในการเข้าร่วมโครงการ
ความสนใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าร่วมโครงการ
การให้ความร่วมมือในการประสานงานเบื้องต้น
การสนับสนุนทรัพยากรจากเทศบาล
แนวคิดในการบริหารจัดการ เมื่อโครงการสิ้นสุดการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- มีรายงานผลการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และผลกระทบในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนของทั้ง 5 เมือง เพื่อให้เมืองสามารถนำไปพื้นฐานในการวางแผนเตรียมการรับมือกับผลกระทบต่อภาวะดังกล่าวได้
- ได้เมืองที่มีความเหมาะสมตามเกณฑ์จำนวน 2 เมืองจาก 5 เมือง ในการเข้าร่วมโครงการในระยะต่อไป ทั้งนี้ เมืองทั้งสองแห่งที่ได้รับการคัดเลือก จะต้องมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานร่วมดำเนินงานอย่างเป็นทางการ เพื่อรับงบประมาณสนับสนุนส่วนหนึ่งจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ในการดำเนินกระบวนการจัดทำแผนงาน การพัฒนาข้อเสนอโครงการ และการดำเนินโครงการ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนที่เป็นรูปธรรมภายในระยะเวลา 5 ปี
- ผู้บริหารเมืองและท้องถิ่นที่เข้าร่วมได้รับความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบกลับมายังเมืองซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัย รวมทั้งเกิดความตระหนักต่อการเตรียมการรับมือต่อผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดจากภาวะดังกล่าว