URBAN CLIMATE RESILIENCE

การรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเมืองในประเทศไทย

Watch the video

Story STORY

URBAN CLIMATE RESILIENCE

การพัฒนาเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นประเด็นที่มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกัน เมื่อการพัฒนาเมืองทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่เหมาะสมนำไปสู่การเปิดรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็สร้างผลกระทบให้เกิดความแปรปรวนและความรุนแรงของภัยพิบัติ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในเขตเมืองย่อมมีแนวโน้มที่จะสร้างความเสียหายรุนแรง และเกิดผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบ กลุ่มคนด้อยโอกาส กลุ่มคนจนและกลุ่มคนเปราะบางในเมือง สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาอาจจะมุ่งเน้นที่การใช้สิ่งก่อสร้างเพื่อป้องกัน บรรเทา และลดความรุนแรงของภัยพิบัติเหล่านั้น แต่ภัยพิบัติที่คาดการณ์ได้ยาก ทั้งอุทกภัย วาตภัย และภัยแล้ง เป็นเรื่องยากที่สิ่งก่อสร้างเหล่านั้นจะรองรับปัญหาดังกล่าวได้ จึงต้องมีแนวทางในการเพิ่มศักยภาพของชุมชนเมืองและสร้างความเข้มแข็งด้านการรับมือของเมืองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ต้องเป็นแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาเมืองที่มีความเท่าเทียม ครอบคลุมคนทุกระดับชั้นและยั่งยืน

Image

 

 

Event New Event

New Event

Image

ลงพื้นที่ถอดบทเรียนการหนุนเสริมศักยภาพภาคประชาสังคม ในการเตรียมความพร้อมรับมือของเมืองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 19-28 สิงหาคม 2567 โครงการ SUCCESS สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกับมูลนิธิชุมชนสงขลา (SCF) ศูนย์ประชาสังคมและการจัดการองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (CSNM) ทำการลงพื้นที่ถอดบทเรียนโดยการสัมภาษณ์ตัวแทนแกนนำทีมโครงการนำร่องทั้ง 7 โครงการ โดยมีเนื้อหาสาระดังนี้ ข้อควรคำนึงถึงการหนุนเสริมการทำงานใก้แก่ภาคประชาสังคมในพื้นที่ เครื่องมือที่ง่ายเป็นรูปธรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้ต้องเข้าถึงง่าย เพราะในชุมชนมีหลายระดับองค์ความรู้ เครื่องมือต้องมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับบริบทผู้ใช้งานในพื้นที่ เงื่อนไขในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมแบบพหุภาคี ต้องมีหลายกลไกในการหนุนเสริมทั้งที่ไม่เป็นทางการ กึ่งทางการ และแบบเป็นทางการ เพื่อให้ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ (แพคเกจกระบวนการหนุนเสริมเฉพาะพื้นที่) ปัจจัยความสำเร็จการหนุนเสริมภาคประชาสังคมเข้มแข็ง...เชื่อมร้อยเครือข่ายแบบพหุภาคี การได้มาซึ่งข้อมูลจากชุมชนอย่างแท้จริง หนุนเสริมเติมพลังความมั่นใจให้ชุมชน สร้างตัวตนจากข้อมูล เป็นเจ้าของปัญหา เจ้าของพื้นที่ และชุมชนเองต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกแนวทางในการแก้ไขปัญหา กระบวนการที่เปิดเวทีให้พุดคุยอย่างมีส่วนร่วม ลดร้อยร้าว ปิดรอยต่อ เชื่อมประสานความสัมพันธ์ เปิดเวทีพื้นที่สาธารณะตรงกลาง ได้แสดงความเห็นอย่างมีส่วนร่วม การมีเป้าหมายร่วมที่ชัดเจน นำมาสู่การสร้างเครือข่ายที่ค่อยๆ เติบโตและเข้มแข็ง พร้อมร่วมตัวและผลักดันต่อยอดเพื่อหาทางแก้ปัญหาต่างๆ ในเมืองร่วมกันได้ จากข้อมูลแท้จริงในพื้นที่...สร้างความมั่นใจละลดความขัดแย้ง...การเปิดเวทีรับฟังแลกเปลี่ยนอย่างมีส่วนร่วม...เกิดเป็นเครือข่ายที่เข็มแข้งจากฐานของชุมชนผู้เป็นเจ้าของปัญหา...นำสู่การเป็นชุมชนที่ตื่นรู้ ตระหนัก เตรียมตัว และพร้อมรับมือกับทุกปัญหาและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

Image

24 กันยายน 2567 โครงการ SUCCESS สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย นำโดย ดร.ผกามาศ ถิ่นพังงา ร่วมกับ ศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง (CSNM) คุณชาคริต โภชะเรือง (SCF) และคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับชาติ ได้แก่ ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ศ.สุริชัย หวันแก้ว และ ผศ.ดร.ยรรยงค์ อินทร์ม่วง จัดประชุมระดมสมองแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนโครงการ SUCCESS โดยคุณอนุสรา โพธิ์ศรี ได้นำเสนอประเด็นหลักที่ได้จากการสะท้อนการดำเนินงานของภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมโครงการของภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ องค์ความรู้และทักษะในการย้อนทวนการเปลี่ยนแปลงของเมืองทำให้เข้าใจบริบทสถานการณ์ของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ส่วนเครื่องมือที่มีความสำคัญคือกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Shared learning dialogue: SLD) ที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ การพัฒนาความเป็นผู้นำของชุมชน และสร้างการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ และประเด็นสำคัญคือกระบวนการได้มาของข้อมูลเชิงประจักษ์ของพื้นที่ที่ชุมชนเป็นผู้เก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเอง เป็นข้อมูลที่พื้นที่ยอมรับร่วมกัน สร้างความมั่นใจ ทำให้หน่วยงานเล็งเห็นความสำคัญของข้อมูล นำไปสู่การลดความขัดแย้งระหว่างภาครัฐและชุมชน นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวประเด็นข้อจำกัดของภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงรูปแบบของกลไกเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่ผ่านการตั้งคณะกรรมการระดับพื้นที่ แนวทางการสานต่อเครือข่ายในอนาคตหลากหลายรูปแบบ ที่สามารถดำเนินการต่อได้โดยอาศัยความสัมพันธ์ในพื้นที่ ทั้งใช้และไม่ใช้งบประมาณ รวมถึงเครือข่ายภาควิชาการที่ต้องสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การทำงานเชิงรุก และเผยแพร่สื่อสารองค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินโครงการผ่านช่องทางสื่อสารที่หลากหลายให้มากขึ้น

Image

27 มิถุนายน 2567 ดร.กฤษฎา บุญชัย Thai Climate Justice for All ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “นโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate policy) เพื่อความเป็นธรรมด้านภูมิอากาศ (climate justice)” และดำเนินเวทีเสวนาสำคัญ 2 เวที ที่เน้นหนุนเสริม และตอกย้ำความสำคัญของการเตรียมความพร้อม รับมือ ปรับตัวของชุมชนเมือง จากผลกระทบจากการพัฒนาเมืองที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติผ่านการสนับสนุนจากภาคประชาสังคมและภาควิชาการ ประกอบด้วย เวทีเสวนา “บทบาทของภาคประชาสังคม กับการขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของเมืองและชุมชน อย่างเป็นธรรม” เพื่อแลกเปลี่ยนประสบวการณ์ในการทำงานทั้งในภาคส่วนของภาคประชาสังคม ภาควิชาการและสื่อสาธารณะที่ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย คุณพูนสมบัติ นามหล้า มูลนิธิชุมชนอีสาน คุณบุษกร สุริยสาร ผู้อำนวยการมูลนิธิต้นกล้ารักษ์โลก คุณชาคริต โภชะเรือง ตัวแทนภาคประชาสังคมภาคใต้ คุณณัฐกฤตา อารมณฤทธิ์ ตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจตลาดรถเขียวเมืองควนลัง หาดใหญ่ สงขลา และอาจารย์สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และ คุณสุมาลี สุวรรณกร ผู้ประสานเครือข่าย Spark U ขอนแก่น เป็นผู้ดำเนินเวทีเสวนา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเวทีกลางในการดึงทุกภาคส่วนมาร่วมพูดคุยหารือร่วมกัน และประเด็นที่ควรหารือคือการจัดตั้งกองทุนในการพัฒนาพื้นที่เมืองที่มีปัญหา เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที เวทีเสวนา “บทบาทภาควิชาการในการสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate adaptation) ด้วยข้อมูลวิทยาศาสตร์ เครื่องมือ และเทคโนโลยี เพื่อหนุนเสริมชุมชนและท้องถิ่น” โดยรศ.ดร.ยรรยงค์ อินทร์ม่วง ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ดร.อโศก พลบำรุง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ดร.ศยามล สายยศ กรมโยธาธิการและผังเมือง Dr Han Aarts – Maastricht University และคุณสมภพ วิสุทธิศิริ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก (สงขลา) โดยดร.อนุวัฒน์ พลทิพย์ มหาวิทยาลัยนครพนม เป็นผู้ดำเนินเวทีเสวนา และร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นจากผู้แทนของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยรับฟังความสำเร็จจากโครงการของภาควิชาการที่หนุนเสริมระบบเตือนภัยของบ้านไผ่ และแลกเปลี่ยนตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นของข้อมูลพื้นฐาน กลไก และกระบวนการในการสร้างความร่วมมือของภาควิชาการเนื่องจากการพัฒนาเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องใช้ภาควิชาการหลากหลายสาขามาร่วมบูรณาการความร่วมมือเพื่อสร้างการรับรู้ เข้าใจ ตระหนัก ต่อสถานการณ์ได้อย่างครอบคลุมครบทุกมิติยิ่งขึ้น โดยในที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า หน่วยงานส่วนกลางที่มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย กฎหมาย พรบ. เทศบัญญัติ หรือธรรมนูญจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจำเป็นต้องพิจารณามิติด้านสังคมควบคู่กันไปด้วย และต้องปรับตัวให้อยู่บนฐานระบบนิเวศที่เอื้อและเกื้อหนุนสิ่งมีชีวิต และให้ความสำคัญถึงความเป็นธรรมด้านภูมิอากาศสำหรับกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้หญิง กลุ่มชาติพันธุ์ ให้มากที่สุด อีกทั้งต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลพื้นฐาน กลไก และกระบวนการและเวทีกลางในการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วน เนื่องจากการพัฒนาเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องใช้ความรู้ ความสามารถ จากหลากหลายสาขามาร่วมบูรณาการความร่วมมือเพื่อสร้างการรับรู้ เข้าใจ ตระหนัก ต่อสถานการณ์ได้อย่างครอบคลุมครบทุกมิติ และที่สำคัญการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างเข้มแข็งและความร่วมมือของท้องที่ท้องถิ่น จะสามารถนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งและเตรียมความพร้อมของทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม เท่าเทียม และเป็นธรรมได้อย่างแน่นอน

URBAN CLIMATE RESILIENCE

การรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเมืองในประเทศไทย

Get In Touch

Image
Image
Image
Image
Image
Image

Copyright © All rights reserved | by Thailand Environment Institute Foundation ( TEI )
16/151 Muang Thong Thani, Bond Street, Bangpood, Pakkred, Nonthaburi 11120 THAILAND