Thematic Areas: Biodiversity
เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า “น้ำ” เป็นปัจจัยที่สำคัญและจำเป็นในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมนุษย์ ที่ใช้น้ำในการอุปโภค บริโภค การเพิ่มขึ้นของประชากรที่มากขึ้น ยิ่งส่งผลถึงความต้องการในการใช้น้ำมากขึ้นเช่นกัน แม้บนโลกของเราประกอบด้วยน้ำ 3 ใน 4 ส่วน แต่ทราบหรือไม่ว่าส่วนใหญ่เป็นน้ำเค็มที่ไม่สามารถนำมาอุปโภคและบริโภคได้ มีเพียงร้อยละ 3 ของน้ำทั้งหมดเท่านั้นที่เป็นน้ำจืด ซึ่งในจำนวนร้อยละ 3 นี้น้ำที่สามารถนำมาใช้ในการอุปโภค-บริโภคได้มีเพียงแค่ 0.3 % เท่านั้น จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้หลายพื้นที่ทั่วโลกประสบปัญหาความแห้งแล้งและการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง นอกจากนั้นน้ำผิวดินที่สามารถนำใช้ประโยชน์ได้ยังเกิดการปนเปื้อนจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การปล่อยน้ำทิ้งจากครัวเรือนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติโดยปราศจากการบำบัด การทิ้งขยะลงแม่น้ำ
ลำคลอง ตลอดจนน้ำเสียจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม
องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์น้ำ จึงกำหนดให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปีเป็นวันอนุรักษ์น้ำของโลก (World Day for Water) ซึ่งในแต่ละปีจะมีหัวข้อที่แตกต่างกันเพื่อรณรงค์ให้เกิดการอนุรักษ์น้ำ และในปี 2567 นี้มุ่งเน้นไปที่ประเด็น “Leveraging Water for Peace” หรือ การยกระดับการใช้ประโยชน์จากน้ำเพื่อสันติภาพ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของน้ำในการส่งเสริมสันติภาพและความร่วมมือในระดับโลกในการรับผิดชอบการจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดน ความจำเป็นในการสื่อสารเพื่อเอาชนะอุปสรรค และเชื่อมโยงน้ำ สิ่งแวดล้อม และสันติภาพของโลก ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ในการกำกับดูแลด้านน้ำเพื่อให้เกิดการตระหนักว่าทรัพยากรน้ำมีอย่างจำกัด รวมถึงการผลักดันให้การจัดการน้ำไปสู่การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ และการใช้น้ำเป็นจุดเริ่มต้นในการเจรจา การแบ่งภารกิจและบทบาทหน้าที่ให้องค์กรลุ่มน้ำเป็นกุญแจสำคัญในธรรมาภิบาลด้านน้ำ และการจัดการน้ำให้ครอบคลุมความต้องการที่มีความหลากหลายเพื่อรักษาสันติภาพ
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยร่วมกับหน่วยงานภาคี วางแผนการดำเนินโครงการเสริมสร้างความสามารถของเมืองและธรรมชาติในการตั้งรับปรับตัวต่อผลกระทบจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ (Urban Resilience Building and Nature) โดยบทบาทของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยคือการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำ และแผนนโยบายระดับจังหวัดเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมทั้งเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพด้วยมาตรการการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (Ecosystem-based Adaptation: EbA) ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขโดยใช้ธรรมชาติเป็นฐาน (Nature based Solution: NbS) ซึ่งนอกจากจะเป็นการฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติและพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามฤดูแล้ง รักษาสมดุลระบบนิเวศน์แล้วนั้น ยังเป็นแนวทางที่สำคัญในการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติ ได้แก่ อุทกภัย ภัยแล้ง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย
Share: