แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ ชุมชนพื้นที่สูงหารือแนวทางลดการเผาเชิงประจักษ์ ร่วมขับเคลื่อนการจัดการและลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน 2 แผ่นดิน ไทย-เมียนมา (In Thai)

26 พฤศจิกายน 2567 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI โดยโครงการพัฒนาความร่วมมือไทย-ลาว-เมียนมา ขับเคลื่อนการจัดการและลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน นำโดย ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษหมอกควันข้ามแดน คุณวิลาวรรณ น้อยภา หัวหน้าโครงการ ดร.จีรนุช ศักดิ์คำดวง ผู้เชี่ยวชาญ และคณะนักวิจัย พร้อมด้วยภาคีหน่วยงานฝ่ายไทย ประกอบด้วย คุณเกศศินี อุนะพำนัก กรมควบคุมมลพิษ พ.อ.พิเชษฐ์ พันธุ์เพ็ง กรมกิจการทหาร คุณวิเชียร ทองอร่าม สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และคุณพรพิมล บุญวงค์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เชียงราย ทั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจาก Mr. Thein Toe อธิบดีกรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เมียนมา พลจัตวา จ่อ แท็ด เสนาธิการภูมิภาคทหารบกสามเหลี่ยมและคณะทหาร ร่วมสำรวจพื้นที่ ณ หมู่บ้าน San Lu ท่าขี้เหล็ก เมียนมา เพื่อหารือบูรณาการปฏิบัติการลดการเผาและหมอกควันข้ามแดน 

หมู่บ้าน San Lu ชุมชนชาติพันธุ์อาข่าที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงยาวนานกว่า 50 ปี มีการดำรงชีวิตผูกพันกับธรรมชาติ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ ยางพารา กาแฟ นาข้าว ส้ม เกษตรกรได้รับองค์ความรู้ด้านการเกษตรจากภาครัฐเมียนมาอย่างต่อเนื่องและทราบดีว่าการเผาหลังเก็บเกี่ยวจะทำให้ทรัพยากรดินและป่าไม้เสียหาย และในพื้นที่ยังมีการส่งเสริมการปลูกพืชแบบไม่เผาหลังการเก็บเกี่ยว เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรนำมาผลิตปุ๋ยใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

ในการนี้ กรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เมียนมา รู้สึกมีความยินดีที่โครงการเล็งเห็นความสำคัญร่วมแก้ไขปัญหาในการจัดการและลดมลพิษหมอกควันข้ามแดนไทย-เมียนมา มุ่งแก้ไขปัญหาสำคัญที่เกิดจากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และหมอกควันข้ามแดน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค ความร่วมมือระหว่างไทยและเมียนมานี้จึงเป็นก้าวสำคัญที่สะท้อนถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์แนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริงต่อไป