สื่อสาร ขยายความรู้ ขับเคลื่อน กรอบยุทธศาสตร์ฟ้าใสความร่วมมือและกิจกรรมลดการเผาในพื้นที่นำร่องท่าขี้เหล็ก ร่วมกับกับผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ประเทศเมียนมา (In Thai)

24 เมษายน 2567 สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา: อำเภอท่าขี้เหล็ก จังหวัดเชียงตุง รัฐฉาน ของเมียนมา พบว่ามีการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจและการบริโภค อาทิ ข้าวนาปี ข้าวโพดหลังฤดูการเก็บเกี่ยวพบว่ามีการใช้ประโยชน์เป็นส่วนน้อยและเผาทิ้งเป็นส่วนใหญ่เกิดไฟไหม้ป่าในช่วงฤดูแล้งคล้ายกับประเทศไทย ชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว มีการประสานความร่วมมือลดการเผา หยุดเผา สนับสนุนผ่านคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นเมียนมา-ไทย มาเป็นระยะ หลายส่วนเริ่มตระหนักและปรับตัวในการจัดการเพื่อลดการเผา ปี2566 ที่ผ่านมา หน่วยงานรับรูู้ได้ว่ามีผลและความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น 

โครงการพัฒนาความร่วมมือไทย-ลาว-เมียนมา ขับเคลื่อนการจัดการและลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย นำโดยคณะที่ปรึกษา ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ด้านมลพิษหมอกควันข้ามแดน รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร ด้านรัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง คุณเบญจมาส โชติทอง ด้านนโยบายและแผนงาน คุณวิลาวรรณ น้อยภา หัวหน้าโครงการฯ ดร.จีรนุช ศักดิ์คำดวง ผู้เชี่ยวชาญโครงการฯ และคณะนักวิจัยร่วมกับ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการยุทธศาสตร์ฟ้าใส สู่แผนปฏิบัติการความร่วมมือแก้ไขปัญหาและลดหมอกควันข้ามแดนเพื่อถ่ายทอดและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อแนวนโยบายไตรภาคี แลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์การจัดการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ให้ยกระดับเป็นแนวกิจกรรม (Action Lines) เป็นแผนปฏิบัติการ ในส่วนของพื้นที่นำร่องของประเทศเมียนมา ให้เกิดการทำงานเชิงรุกร่วมกันในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนให้มากขึ้น ทั้งในระดับนโยบายและในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เมียนมาจำนวน 20 คน เข้าร่วมในการอบรมครั้งนี้ 

โดยได้มีการกล่าวความสำคัญของกรอบความร่วมมือไทย-ลาว-เมียนมา ยุทธศาสตร์ฟ้าใสสู่แผนปฏิบัติการร่วม (2567-2573) โดย ดร. สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนาในด้านภาพรวมของสถานการณ์และปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ยุทธศาสตร์สำคัญของแผนงานอาเซียนปลอดหมอกควัน ฉบับที่ 2 (2566-2573) และกลยุทธ์ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส
แนวปฏิบัติดีและการจัดการเกษตรกรรมที่ยั่งยืน 

ดังนั้นแนวปฏิบัติที่ดีกรณีต้นแบบการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่สูงของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โดยนายวิธิวัต มันกระโทก นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา 5 ว่าสถาบันฯได้ใช้แนวการแก้ไขปัญหาการเผาและฝุ่นควันบนพื้นที่สูง เพื่อลดปัญหาความยากจนของประชาชนบนพื้นที่สูง ส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาการเกิดไฟป่าจากการเผาทางการเกษตร พร้อมทั้งได้เสนอแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ตลอดจนร่วมระดมความคิดเห็น ในด้านสถานการณ์ปัญหาหมอกควันข้ามแดน แนวทางปฏิบัติ/กิจกรรมที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลดการเผาในพื้นที่ และหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานลดมลพิษหมอกควัน 

ในด้านการดำเนินงานโครงการเพื่อพัฒนาความร่วมมือให้ืเกิดการลดการเผากับประเทศเพื่อบ้าน คุณวิลาวรรณ น้อยภา หัวหน้าโครงการ ได้กล่าวเสริมว่า การดำเนินการโครงการฯ นี้มีความท้าทายหลายประการด้วย แม้ว่าปัญหาการเกิดไฟทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรจะพบแหล่งกำเนิดที่ชัดเจน แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงโดยตรงกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ การมีและบังคับใช้กฎหมาย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และขีดความสามารถในการรับมือกับปัญหาที่แตกต่างกัน ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการผลักดันให้เกิดการทำงานข้ามพรมแดนในพื้นที่นำร่องในเมียนมาซึ่งไม่ได้ง่ายนักให้เกิดการลดการเผาหรือปรับเปลี่ยนระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการลดสาเหตุของการเกิดหมอกควันข้ามแดน แต่ด้วยความร่วมมือและตอบรับที่ดีจากภาคีต่างๆ จะเป็นพลังสำคัญให้เกิดการผลักดันการจัดการลดและแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมร่วมกันได้ในโอกาสต่อไป

พร้อมนี้ รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร ที่ปรึกษาโครงการด้านรัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง ได้ให้ข้อคิดเห็นเสริมถึงความร่วมมือข้ามชาติระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นเกินขอบเขตของประเทศ ดังนั้น *การแบ่งปันข้อมูล* จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อสร้างกลไกสำหรับการแบ่งปันข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับเหตุการณ์มลพิษที่เกิดขึ้น เช่น ข้อมูลคุณภาพอากาศ จุดเผาไหม้ และสถานการณ์อากาศ เพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติการตอบสนองอย่างสอดคล้อง *การมีแผนการดำเนินการร่วมกัน:*พัฒนาแผนการดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อปรับปรุงนโยบาย แบ่งปันทรัพยากร และประสานกลยุทธ์การตอบสนองสำหรับการลดมลพิษ*การช่วยเหลือร่วมกัน:*สร้างข้อปฏิบัติสำหรับการช่วยเหลือและสนับสนุนร่วมกันในกรณีฉุกเฉินที่เกี่ยวกับมลพิษ เช่นการแบ่งปันอุปกรณ์ดับเพลิง บุคลากร และความเชี่ยวชาญข้ามพรมแดน ตลอดจน *การสนับสนุนและการทูต:* ร่วมมือในการพยายามสนับสนุนและการทูตเพื่อแก้ไขปัจจัยพื้นฐานที่มีส่วนร่วมในการสร้างมลพิษ เช่นการใช้ที่ดินที่ไม่ยั่งยืนและกิจกรรมผลิตมลพิษข้ามชาติ