13 February - Hornbills Day (In Thai)

Thematic Areas: Marine and Coastal Resources

นกแก๊ก ฉายาหนึ่งของนกเงือก...นกช่างคุยแห่งผืนป่า

13 กุมภาพันธ์, วันรักนกเงือก


นกเงือกมีความสำคัญต่อความสมดุลของระบบนิเวศป่าดิบเขตร้อน ด้วยบทบาทการเป็นผู้แพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ และช่วยควบคุมประชากรสัตว์เล็กในฐานะผู้ล่า
 
“นกเงือก” หรือ “Hornbills” ทั่วโลก มีอยู่ 52 ชนิด บวกกับ Ground Hornbills อีก 2 ชนิด รวมเป็น 54 ชนิด โดยพบในประเทศไทย 13 ชนิด

เรารู้หรือไม่ว่า “นกแก๊ก” นั้นเป็นนกเงือกชนิดหนึ่ง ที่บรรดานักดูนกพูดถึงเสมอว่า “...เจ้านกแก๊ก ชอบมาร้องแจ๊กแจ๊กตามพุ่มไทร...” ซึ่งหมายถึง นกเงือกสายพันธุ์หนึ่งที่มีขนาดตัวเล็กที่สุดในบรรดานกเงือกที่พบในประเทศไทย โดยสามารถพบเจอได้ในเกือบทุกสภาพป่า ยกเว้นป่าในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นกแก๊ก มีโหนกขนาดใหญ่คล้ายทรงกระบอกซึ่งจะทอดยาวตามความยาวของปาก ส่วนคอและลำตัวด้านบนของนกแก๊กมีสีดำสนิท ถัดลงไปใต้อกจะมีสีขาว บริเวณรอบดวงตามีสีฟ้าซีด ปลายขนของนกแก๊กนั้นมีปีกสีขาว ขนหางมีสีดำตรงคู่กลาง มีนิสัยชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง 8-10 ตัว ในช่วงนอกฤดูทำรังจะอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่มากถึง 150 ตัว นกแก๊กชอบพูดคุยกันเสียงดังลั่น ดังฉายาที่ว่าเป็นนกช่างคุย ที่มีเสียงร้องตามชื่อเรียก แก๊ก แก๊ก พบได้มากตามป่าดงดิบและป่าดงดิบชื้น พวกมันสามารถปรับตัวได้ดี จึงทำให้มีประชากรมากที่สุด

ทั้งนกแก๊กและนกเงือกชนิดอื่น มีลักษณะพิเศษ คือ การเลือกจับคู่ผสมพันธุ์กับคู่ตัวเดิมตลอดชีวิต เมื่อตัวเดิมที่เป็นคู่ตายหรือหายไป ก็จะไม่หาคู่ตัวใหม่ จึงถือเป็นนกที่มีรักเดียวใจเดียว จนหยิบยกให้เป็นสัญลักษณ์แห่งรักแท้ นอกจากนี้ ยังเป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าด้วย เพราะนกเงือกมักอาศัยอยู่ในป่าหรือพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง

มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นถึงความสำคัญของนกเงือก และต้องการสร้างความตระหนักในการให้ความรู้เกี่ยวกับนกเงือก จึงเลือกวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เป็นวันรักนกเงือก” ของทุกปี


เรียบเรียงโดย: พวงผกา ขาวกระโทก นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
แหล่งข้อมูล:
  • คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
  • มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก
  • อุทยานแห่งชาติแหลมสน